CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

ย้อนรอย “วิกฤตตัวประกัน โรงละครมอสโก” ตราบาปของรัสเซีย ที่ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตกว่า 130 คน

เคยได้ยินเรื่องราวของ “วิกฤตการณ์ตัวประกันโรงละครมอสโก” กันมาก่อนรึเปล่า?

นี่คือเรื่องราวการปิดล้อมโรงละครในรัสเซีย ที่นำมาซึ่งเหตุการณ์นองเลือดที่มีคนเสียชีวิตมากถึง 130 คน และวันนี้ ก็ครบรอบ 18 ปี ของเหตุการณ์นั้นพอดี

 

 

เหตุการณ์ในครั้งนี้ มีจุดเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 23 ตุลาคม 2002

เมื่อกลุ่มติดอาวุธเชเชน ซึ่งต้องการแบ่งแยกดินแดนในเชชเนียราวๆ 40-50 คนพร้อมอาวุธครบมือ และวัตถุระเบิด ได้บุกเข้าไปยังโรงละคร Dubrovka Theater และจับตัวประกันร่วม 700-900 คนเอาไว้

พวกเขามีข้อเรียกร้องที่จะให้กองกำลังทหารรัสเซียเริ่มการถอนตัวออกจากเชชเนีย ที่เป็นพื้นที่สงครามทางเหนือของเทือกเขาคอเคซัส ซึ่งอาจส่งผลให้สงครามเชชเนียครั้งที่สองยุติลง ด้วยการประกาศอิสรภาพของเชชเนีย

 

 

ในช่วงแรกๆ ของการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มติดอาวุธเชเชนและเจ้าหน้าที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแม้ว่าจะตรึงเครียดแต่ก็ยังไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นมากนัก

อย่างไรก็ตาม เมื่อการเจรจาไม่ไปไหนสักที ในช่วงดึกของวันที่ 25 ตุลาคม สถานการณ์ภายในโรงละครเอง กลับมีเหตุความวุ่นวายขึ้นอย่างไม่คาดคิด ซึ่งส่งผลให้ในเวลาต่อมามีตัวประกัน 2 คนเสียชีวิต

การเสียชีวิตในโรงละครทำให้กองกำลังสเปซนาซภายใต้คำสั่งของรัฐบาลที่นำโดยประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูตินตัดสินใจ เข้าจู่โจมโรงละครในช่วงเช้าวันต่อมาทันที

 

 

พวกเขามีการใช้ “ก๊าซยาเสพติด” อัดเข้าไปในตัวอาคารเพื่อให้คนร้ายและตัวประกันหมดสติ ก่อนที่ทีมติดอาวุธจะพังประตู กำแพง และเพดานเข้าไปในอาคารอีกที

ภายในการจู่โจมมีกลุ่มติดอาวุธอาวุธเชเชนถูกสังหารโดยทางกองทัพไปทั้งสิ้น 39 คน ในขณะที่มีตัวประกันที่ได้รับผลกระทบถึงขั้นเสียชีวิต มากถึง 129 ราย ซึ่งเป็นไปได้ว่าส่วนใหญ่จะเสียชีวิตจากการสูดก๊าซเข้าไป หรือขาดอากาศหายใจอีกด้วย

 

 

แน่นอนว่าด้วยผลการจู่โจมที่มีตัวประกันเสียชีวิตมากกว่าคนร้ายเช่นนี้ การใช้ก๊าซของรัสเซียจึงถูกประนามอย่างหนักทั้งจากคนในประเทศและภายนอก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทางการไม่ยอมเปิดเผยก๊าซที่ใช้ ทั้งๆ ที่มันอาจทำให้การช่วยเหลือคนเป็นไปได้ง่ายขึ้น

ถึงอย่างนั้นก็ตามทางกองทัพก็ยังคงยืนยันว่าการใช้ก๊าซของพวกเขานั้น “จำเป็น” ต่อการปลดอาวุธและวัตถุระเบิดของผู้ก่อการร้าย ก่อนที่พวกเขาจะมีโอกาสได้ใช้มัน

 

 

ในท้ายที่สุดหลังจากเหตุการณ์ก่อการร้ายในครั้งนี้ รัฐบาลของปูตินก็เลือกที่จะกดดันเชชเนียหนักยิ่งขึ้นไปอีก ภายใต้ข้อกล่าวหาการลักพาตัว การทรมาน และการสังหารโหดอื่นๆ

ส่วนทางกลุ่มติดอาวุธเชเชนเอง ในภายหลังนั้นก็ตอบโต้กลับด้วยการก่อการร้ายอีกหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งรวมไปถึงการระเบิดฆ่าตัวตายในรถไฟใต้ดินมอสโก และการจับตัวประกันครั้งใหญ่ที่โรงเรียน Beslan ในปี 2004 อีกด้วย..

 

เรียบเรียง #เหมียวศรัทธา

ที่มา history, bbc


Posted

in

,

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น