เรียกได้ว่ามีกลิ่นกันมาสักพักแล้วสำหรับการก่อ ‘รัฐประหารในเมียนมา’ วันนี้ หลังจากที่ทางกองทัพทหาร กล่าวหาว่าการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่ผ่านมานั้นไม่มีความโปร่งใส
และในวันนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2564) ที่กำลังจะมีการประชุมสมาชิกรัฐสภาชุดใหม่เป็นครั้งแรก ก็กลับกลายเป็นความตึงเครียดของประชาชนทั่วประเทศ เมื่อกองทัพได้ก่อรัฐประหาร เพื่อหวังยึดอำนาจรัฐบาลของ นางออง ซาน ซูจี
ตอนนี้หลายคนอาจสงสัยว่า ข่าวใหญ่ที่กำลังถูกจับตามองไปทั่วโลกนั้น มีอะไรเกิดขึ้นมาแล้วบ้าง? #เหมียวตะปู จึงขอสรุปข้อมูลต่างๆ และแบ่งเป็น 9 ข้อ ดังนี้…
1. เมียว ยอน โฆษก พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) เปิดเผยว่า นางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรค ได้ถูกทางกองทัพควบคุมตัวไป พร้อมด้วย ประธานาธิบดี วิน มินต์ รวมถึงแกนนำพรรคและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองบางส่วน
2. ผู้นำหลักในการก่อรัฐประหารในครั้งนี้คือ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพ และยังเป็นบุตรบุญธรรมของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
3. หลังการจับกุมตัว มีการรายงานว่าสัญญาณโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตภายในประเทศถูกตัดขาด สถานีโทรทัศน์ของรัฐถูกปิดกั้น เข้าถึงได้เฉพาะสถานี Myawaddy ของกองทัพ หรือช่องเพื่อความบันเทิงเท่านั้น
4. กองทัพออกมาแถลงการณ์ว่า สามารถเข้ารักษาอำนาจรัฐได้แล้ว การควบคุมตัวบุคคลเหล่านั้นเกิดจากความไม่มั่นคงทางการเมือง เนื่องจากพบความผิดปกติในการเลือกตั้งทั่วไป
ทั้งนี้ยังประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี และแต่งตั้ง พล.อ.มินต์ ส่วย รองประธานาธิบดี ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีชั่วคราว
(มีข้อมูลระบุด้วยว่า พล.อ. มินต์ ส่วย คือพันธมิตรคนสำคัญของ พล.อ.อาวุโส ตาน ฉ่วย อดีตผู้นำรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา)
5. สถานการณ์ในเมืองย่างกุ้ง ผู้คนบางส่วนไม่กล้าออกไปไหน คนจำนวนไม่น้อยออกมากดเงินสดตามตู้ ATM หลังได้ทราบถึงการรัฐประหารที่เกิดขึ้น บางคนออกมาซื้ออาหารกักตุน และยังมีรายงานว่าสนามบินย่างกุ้งถูกปิดแล้ว
6. มีการรายงานว่า โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้รับรายงานเกี่ยวกับการควบคุมตัว นางออง ซาน ซูจี แล้ว และโฆษกทำเนียบขาวได้ออกมาแถลงสั้นๆ ว่า…
“สหรัฐฯ คัดค้านความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งทั่วไป หรือการขัดขวางการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในเมียนมา และสหรัฐฯ จะดำเนินการต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหากไม่ยุติการกระทำดังกล่าว”
7. ทางรัฐบาลออสเตรเลีย ก็ได้ออกมาบอกจุดยืนว่าสนับสนุนประชาธิปไตยและมองเห็นถึงความโปร่งใสในการเลือกตั้งที่ผ่านมาของเมียนมา อีกทั้งยังมีการเรียกร้องให้ปล่อยผู้ที่ถูกควบคุมตัวไปในทันที
8. กระทรวงต่างประเทศในสิงคโปร์ ก็ออกมากล่าวแสดงถึงความกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และพร้อมจะเฝ้าดูสถานการณ์ต่อไปอย่างใกล้ชิด
9. #SaveMyanmar ได้กลายมาเป็นกระแสติดอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ในไทย
ปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานการเคลื่อนไหวเพิ่มเติมใดๆ เกิดขึ้น ซึ่งหากมีสถานการณ์ที่น่าสนใจขึ้นมาเมื่อไหร่ ทางเราจะรีบนำมาอัปเดตในเวลาต่อไปนะฮะ
เรียบเรียงโดย #เหมียวตะปู
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น