CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

กรณีศึกษาจากสหรัฐฯ เมื่อมีเด็กเสียชีวิตเพราะ “อะมีบากินสมอง” หลังว่ายน้ำในบ่อน้ำร้อน

นับว่าเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่แพทย์หลายๆ คนให้ความสนใจไปแล้ว เมื่อวันที่ 13 กันยายน ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมานี้เอง วารสาร Mortality Weekly Report ซึ่งตีพิมพ์โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ ได้มีการออกมารายงานเรื่องราวของเด็กชายในแคลิฟอร์เนียซึ่งต้องเสียชีวิตเพราะการติดเชื้อในสมอง หลังไปว่ายน้ำในบ่อน้ำร้อน

 

 

โดยเรื่องราวของเด็กชายไม่ระบุนามคนนี้ เริ่มต้นขึ้นในเดือนตุลาคมปี ค.ศ. 2018 เมื่อเขาไปว่ายน้ำเล่นในแหล่งน้ำร้อนในพื้นที่ที่ชื่อ “Hot Ditch” ที่พักผ่อนหย่อนใจชื่อดังของพื้นที่เซียร่าตะวันออก ก่อนที่ราวๆ 12 วันต่อมาเด็กชายก็เริ่มมีอาการไข้ขึ้นสูง บวกกับอาการปวดหัวและคลื่นไส้

เด็กชายถูกนำตัวเข้าส่งหน่วยดูแลผู้ป่วยรุนแรงในเซียร่าตะวันตกราวๆ 2 วันหลังจากที่มีอาการ และก็เป็นที่นั่นเองที่อาการของเด็กชายทรุดลงจนถึงขึ้นระบบหายใจล้มเหลว

เมื่อทีมแพทย์ทำการซีทีสแกนศีรษะของเด็กชาย พวกเขาก็พบว่าสมองของผู้ป่วยในเวลานั้นมีอาการบวมอย่างผิดปกติ และเมื่อแพทย์ทำการตรวจไขสันหลังของคนไข้พวกเขาก็พบว่าในตัวเด็กนั้นมีจุลินทรีย์อะมีบาที่ชื่อ Naegleria fowleri ปนเปื้อนอยู่ด้วย และเจ้าจุลินทรีย์ตัวนี้เองที่น่าจะเป็นต้นเหตุของอาการที่เด็กพบ

 

 

อ้างอิงจากรายงานของทีมแพทย์ จุลินทรีย์ N. fowleri เป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวอีกชนิดหนึ่งที่พบได้ในน้ำจืด ที่มีอุณหภูมิอุ่น และจะเข้าสู่สมองได้ผ่านทางจมูกเท่านั้น อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าสู่สมองอะมีบาตัวนี้จะแบ่งตัวอย่างต่อเนื่องด้วยการกินเนื้อเยื่อสมอง ซึ่งแน่นอนว่ามีอันตรายถึงชีวิต

ตั้งแต่ในช่วงปี 1962-2018 ทีมแพทย์ได้มีรายงานเหยื่อของ N. fowleri อยู่ที่ราวๆ 145 คน ซึ่งแม้ว่าจะไม่เยอะมาก แต่ในบรรดาเหยื่อเหล่านี้ มีเพียง 4 คนเท่านั้นที่รอดชีวิต ซึ่งทำให้อัตราการเสียชีวิตเพราะอะมีบาตัวนี้เรียกได้ว่าสูงถึง 97% เลย

 

ตัวอย่างชิ้นส่วนของสมองที่ได้รับผลกระทบจาก N. fowleri

 

น่าเสียดายที่สำหรับเด็กชายผู้ป่วยในครั้งนี้เอง แม้ว่าทีมแพทย์จะทำการยื้อชีวิตเขาอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม แต่สุดท้ายเด็กชายก็ต้องสิ้นลมไปในที่สุด หลังจากที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน 3 วัน ทิ้งไว้เพียงอุทาหรณ์ และกรณีศึกษาให้คนรุ่นต่อไป

 

ที่มา livescience, cdc


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น