การฝังศพคนที่จากไปแล้ว จัดว่าเป็นพิธีกรรมทางความเชื่อที่มีความซับซ้อนทางความคิดและอารมณ์ความรู้สึกค่อนข้างสูง ดังนั้นที่ผ่านๆ มาหลายๆ คนจึงอาจจะคิดกันว่า คงมีเพียงสัตว์ที่มีความรู้สูงอย่างมนุษย์เท่านั้นที่จะมีการผังศพในรูปแบบนี้
แต่ในความเป็นจริงแล้ว การฝังศพเพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์นั้นเป็นสิ่งที่สามารถพบเป็นได้ในหมู่สัตว์อื่นๆ อย่างลิง หรือช้างบางชนิดเช่นกัน แถมเมื่อล่าสุดนี้เอง นักวิทยาศาสตร์ ก็ค้นพบด้วยว่าแม้แต่บรรพบุรุษต่างเผ่าพันธุ์ของเราอย่าง “มนุษย์นีแอนเดอธัล” จริงๆ แล้วก็มีการฝังศพคนที่ตายไปแล้วกับเขาด้วย
นั่นเพราะเมื่อล่าสุดนี้เองทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการค้นพบโครงกระดูกชุดใหม่ของ มนุษย์นีแอนเดอธัล ถูกฝังเอาไว้เมื่อราวๆ 70,000 ปีก่อนภายในถ้ำ Shanidar Cave ทางตอนเหนือของอิหร่าน สถานที่ซึ่งที่ผ่านๆ มามีการขุดพบโครงกระดูกมนุษย์นีแอนเดอธัลอยู่บ่อยครั้ง
โครงกระดูกชุดที่ถูกพบนี้ถูกตั้งชื่อโดยนักวิทยาศาสตร์ว่า “Shanidar Z” โดยมันเป็นโครงกระดูกครึ่งบนของมนุษย์โบราณ ที่มีจุดชี้ชัดสำคัญว่าถูกฝังแบบมีพิธีรรมทางความเชื่อจากน้ำมือมนุษย์ด้วยกันเอง อยู่ที่ร่องรอยของกลุ่มเกสรดอกไม้โบราณ และพืชที่กลายเป็นแร่ไปแล้วภายในดินที่อยู่ใกล้เคียง
Shanidar Z ถูกเชื่อว่าเป็นครึ่งบนของโครงกระดูกอีกชุดซึ่งถูกพบตั้งแต่ในปี 1960
ลักษณะเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าในตอนที่โครงกระดูก Shanidar Z ถูกฝังได้มีคนจำนวนหนึ่งนำดอกไม้มาใส่ในหรือใกล้ๆ หลุม ซึ่งนับเป็นพิธีกรรมทางความเชื่อที่เรายังเห็นได้แม้ในปัจจุบัน
อ้างอิงจากนักวิทยาศาสตร์ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการค้นพบเกสรดอกไม้ใกล้กับศพของมนุษย์นีแอนเดอธัล อย่างไรก็ตามในอดีต ด้วยความเกสรดอกไม้ที่พบมีอยู่ไม่มาก บวกกับการที่เรายังติดภาพลักษณะว่ามนุษย์นีแอนเดอธัลเป็นมนุษย์ที่โหดร้าย นักวิทยาศาสตร์ในอดีตจึงมักมองว่าเกสรที่พบตกลงมาอยู่ในหลุมโดยบังเอิญเท่านั้น
ดังนั้นการค้นพบในครั้งนี้จึงเป็นเหมือนการคืนชีพให้กับแนวคิดที่ว่ามนุษย์นีแอนเดอธัลเองก็มีการจัดพิธีฝังศพด้วยดอกไม้ และสนับสนุนแนวคิดที่ว่ามนุษย์กลุ่มนี้ อาจไม่ได้มีนิสัยดุร้ายมากเท่าที่เราเคยคิดได้เป็นอย่างดี แม้ว่าแนวคิดดังทั้งสองจะยังต้องการหลักฐานเพิ่มเติมอยู่ก็ตาม
ถ้ำ Shanidar Cave ทางตอนเหนือของอิหร่าน สถานที่ที่มีการค้นพบโครงกระดูก
“กุญแจสำคัญในการคืนยันแนวคิดเหล่านี้ คือความตั้งใจเบื้องหลังการฝังศพ พวกเขาอาจฝังศพด้วยเหตุผลเชิงปฏิบัติอย่าง การหลีกเลี่ยงสัตว์ที่จะมากินศพหรือเพื่อลดกลิ่นเหม็น” คุณ Emma Pomeroy นักเขียนหลักของงานวิจัยกล่าว
“แต่หากความตั้งใจเหล่านี้ไม่ใช่เหตุผลเชิงปฏิบัติ มันจะกลายเป็นอะไรที่สำคัญมาก นั่นเพราะพิธีกรรมเหล่านี้จะแสดงให้เห็นถึงระดับความคิดที่ซับซ้อน ทั้งในเชิงสัญลักษณ์และเชิงนามธรรม อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกแก่คนตาย เช่นความเศร้าโศก หรือการไว้ทุกข์ได้เป็นอย่างดีเลย”
ที่มา theguardian, gizmodo และ livescience
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น