CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

พบไวรัสลึกลับตัวใหม่ในบราซิล มียีนกว่า 90% ไม่เหมือนไวรัสใดๆ ที่เราเคยบันทึกไว้

ในช่วงเวลาที่โคโรน่าไวรัสกำลังกลายเป็นที่จับตามองไปทั่วโลกเช่นนี้ เชื่อว่าหลายๆ คนคงจะตื่นตัวต่อข่าวเกี่ยวกับไวรัสและโรคร้ายบนโลกกันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ดังนั้นนี่จึงอาจจะไม่ใช่ข่าวที่ดีสักเท่าไหร่ เมื่อล่าสุดนี้เองทีมนักวิทยาศาสตร์จากบราซิลได้มีการออกมาประกาศว่า พวกเขาได้ทำการค้นพบไวรัสตัวใหม่ ซึ่งมียีนแบบใหม่ที่ “แทบไม่เคยมีการค้นพบมาก่อนเลย” ในทางวิทยาศาสตร์

 

 

ไวรัสตัวดังกล่าวนี้ ได้รับการตั้งชื่อแบบชั่วคราวว่า “Yaravirus” ชื่อเล่นที่มีที่มาจากนางเงือกจากตำนานบราซิล โดยไวรัสตัวนี้ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในทะเลสาบ Pampulha ซึ่งเป็นทะเลสาบเทียมในเมือง Belo Horizonte อีกที

อ้างอิงจากรายงานที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร BioRxiv เมื่อนักวิทยาศาสตร์ทำการตรวจสอบไวรัสที่พบด้วยระบบการตรวจสอบแคพซิด และการตรวจสอบยีน พวกเขาก็พบว่า…

ไวรัสตัวใหม่นี้ มียีนมากถึงราวๆ 90% ที่ไม่เหมือนกับไวรัสสายพันธุ์อื่นใดที่นักวิทยาศาสตร์เคยพบมาในโลกเลย และในบรรดายีน 74 ตัวของมันก็มียีนเพียงแค่ 6 ตัวเท่านั้นที่มีความ “ใกล้เคียง” กับไวรัสอื่นๆ ที่มีการบันทึกไว้

 

ภาพขยายของ Yaravirus

 

นี่อาจจะเป็นข่าวที่ฟังดูน่าหวาดกลัวมากสำหรับหลายๆ คน อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์ก็มีการออกมาอธิบายเพิ่มเติมไว้ด้วยว่า Yaravirus นั้นในปัจจุบันไม่ได้เป็นอันตรายต่อมนุษย์มากอย่างที่เราคิด

นั่นเพราะแม้ไวรัสตัวนี้จะยังคงมีเรื่องที่เราไม่ทราบอีกมาก แต่ในบรรดาสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์พอจะบอกได้เกี่ยวกับ Yaravirus ในปัจจุบันนั้น คือไวรัสตัวนี้ไม่ได้มีเหยื่อเป็นมนุษย์ แต่เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กด้วยกันเองอย่าง “อะมีบา” ต่างหาก

 

Yaravirus ระหว่างทำให้อะมีบาติดไวรัส

 

และแม้ว่ามันจะไม่ใช่เรื่องแปลกที่ไวรัสตัวหนึ่งจะกลายพันธุ์จนข้ามสายพันธุ์มาติดคนได้หากไม่ระวังให้ดี แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ระบุไว้ด้วยว่าใช้ว่าไวรัสทุกตัวจะเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์

ดังนั้นสิ่งที่เราควรทำให้เวลานี้ จึงไม่ใช่การตื่นตูมเกินจำเป็น แต่เป็นการศึกษาไวรัสตัวใหม่ที่เราพบ เพื่อพัฒนาความรู้ในการจัดการเจ้าไวรัสเล็กๆ เหล่านี้ เพื่อประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพมนุษย์ต่างหาก

 

ที่มา biorxiv, sciencealert, futurism และ independent


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น