ตั้งแต่ที่โลกเราก้าวเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน มนุษย์ได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นไปในบรรยากาศแล้วราวๆ 1.8 ล้านล้านตัน และในบรรดาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมานี้ราวๆ 25% ก็จะถูกดูดซับเอาไว้โดยท้องทะเล
ก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ ไม่เพียงแต่จะทำให้มหาสมุทรของโลกอุ่นขึ้นทุกปีทุกปีเท่านั้น แต่มันยังทำให้องค์ประกอบทางเคมีของน้ำเปลี่ยนแปลงไปจนมีความเป็นกรดค่อยๆ สูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วย
และอ้างอิงจากในงานวิจัยชิ้นใหม่ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Science of the Total Environment เมื่อวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าความเป็นกรดเหล่านี้ ก็อาจจะส่งผลกระทบอันเลวร้ายโดยตรง ต่อสัตว์น้ำในตระกูลสัตว์ที่มีเปลือกแข็งอย่างปะการัง หอย หรือปูเสียด้วย
นั่นเพราะจากการตรวจสอบตัวอย่างตัวอ่อนปูดันจิเนส (Metacarcinus magister) 50 ตัว ซึ่งถูกเก็บมาจากพื้นที่ต่างๆ กัน 10 แห่งของชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของสหรัฐอเมริกาและแคนาดา นักวิทยาศาสตร์ก็ได้พบว่า ยิ่งในพื้นที่ที่ทะเลมีความเป็นกรดสูงแค่ไหน ตัวอ่อนของปูที่พบก็จะยิ่งอ่อนแอลงเท่านั้น
เหตุผลของความอ่อนแอที่นักวิทยาศาสตร์พบนั้น มีปัจจัยสำคัญมาจากการที่ทะเลที่เป็นกรดได้กัดกินเปลือกของตัวอ่อนปู บั่นทอนการเติบโตของพวกมัน หรือทำให้กระดองของมันมีรูปร่างที่ผิดเพี้ยนไป ซึ่งเป็นเรื่องที่เราคงพอจะเดากันได้
อย่างไรก็ตามกรดดังกล่าว ยังไปลดความเข้มข้นของโมเลกุลที่สัตว์หลายชนิดในทะเลใช้สร้างเปลือกได้ด้วย และที่สำคัญคือในบางกรณีกรดที่ว่าก็อาจจะรุนแรงได้ถึงขั้นที่จะทำให้อวัยวะรับความรู้สึกขนาดเล็ก (ที่เรียกว่า) Mechanoreceptors ของสัตว์น้ำเสียหาย หรือถูกทำลายไปได้เลย
สภาพของปูที่ถูกพบนี้ นับว่าเป็นสัญญาณสำคัญของอันตรายจากเหตุการณ์ทะเลเป็นกรดเลยก็ว่าได้ เพราะปูนั้นนับว่าเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญทั้งสำหรับมนุษย์ และห่วงโซ่อาหารในทะเล
“หากปูได้รับผลกระทบแล้วเช่นนี้ เราก็คงจะจำเป็นต้องให้ความสำคัญมากขึ้นกับสมดุลและองค์ประกอบต่างๆ ของห่วงโซ่อาหาร ก่อนที่มันจะสายเกินไป” คุณ Nina Bednarsek แห่งโครงการวิจัยท้องทะเลชายฝั่งแคลิฟอร์เนียตอนใต้ หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว
และก็แน่นอนว่าความเป็นกรดของน้ำทะเลนั้น ย่อมไม่ได้ส่งผลกระทบแค่เพียงกับปูเท่านั้น ดังนั้นมันคงจะถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องทำอะไรสักอย่างกับสภาพท้องทะเลในปัจจุบัน
ซึ่งวิธีแก้ไขปัญหาทะเลเป็นกรดที่ดีที่สุดที่เราพอจะทำได้ในปัจจุบันนั้น ก็คงจะไม่พ้นการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ให้มากที่สุดและเร็วที่สุดเท่าที่เราจะทำได้นั่นเอง
ที่มา livescience, และ sciencedirect
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น