กลายเป็นอีกหนึ่งในข่าวการค้นพบครั้งสำคัญของโลกไปแล้ว เมื่อล่าสุดนี้เอง นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการค้นพบ “วัตถุที่เก่าแก่ที่สุดในโลก” อายุร่วม 7 พันล้านปี ภายในอุกกาบาตที่ตกลงมาที่ออสเตรเลียเมื่อราวๆ 50 ปีก่อน
โดยวัตถุที่กล่าวมานี้ มีสภาพเป็นฝุ่นละอองดาว ซึ่งเกิดขึ้นจากความตายของดวงดาวในอดีตอันแสนจะห่างไกล (เป็นไปได้ว่ามาจากเนบิวลาไข่ในกลุ่มดาวหงส์) ก่อนที่มันจะรวมกับสสารอื่นๆ เป็นดาวเคราะห์น้อย นักราวๆ 100 กิโลกรัม และตกลงมาที่ เมอร์ชิสัน เมืองวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 1969 อีกที
เมื่อทำการตรวจสอบฝุ่นที่พบอย่างละเอียด นักวิทยาศาสตร์ก็ค้นพบว่าหินดังกล่าวนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นวัตถุที่เก่าแก่ที่สุดในโลกของเราเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วมันยังมีความเก่าแก่มากกว่าดวงอาทิตย์ของเรารวม 3-4 พันล้านปีเลยด้วย (ดวงอาทิตย์ของเรามีอายุราวๆ 4.6 พันล้านปี)
โดยฝุ่นละอองกลุ่มที่เก่าแก่ที่สุดที่นักวิทยาศาสตร์พบนี้ มีขนาดอยู่ที่ราวๆ 2-30 ไมครอน (หนึ่งในล้านของเมตร) อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงแค่ฝุ่นละอองส่วนที่นักวิทยาศาสตร์สามารถตรวจสอบได้เท่านั้น เพราะอ้างอิงจากในรายงานการค้นพบ ฝุ่นละอองที่เก่ากว่าดวงอาทิตย์ในอุกกาบาตส่วนมากแล้วจะมีขนาดเล็กกว่า 1 ไมครอนเสียอีก
“มันเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของดวงดาว เป็นฝุ่นละอองดาวของแท้เลย” คุณ Philipp Heck รองศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกกล่าว
และก็แน่นอนว่าด้วยอายุที่เก่าแก่ขนาดนี้ มันไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ฝุ่นละอองดาวที่ถูกพบนี้ จะเก็บเอาเรื่องราวของจักรวาลในสมัยที่ยังไม่มีดวงอาทิตย์เอาไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เองก็หวังกันเป็นอย่างมากว่าการศึกษาฝุ่นละอองดาวเหล่านี้ จะนำมาซึ่งความรู้ใหม่ๆ ที่เรายังไม่เคยทราบมาก่อนต่อไป
ที่ livescience, foxnews และ cnet
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น