CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

ย้อนรอย “Operation Nimrod” การปิดล้อมสถานทูตที่ทำให้ SAS กลายเป็นหน่วยที่มีชื่อเสียง

เชื่อว่าคงมีเชื่อหลายคนไม่น้อยที่เคยได้ยินชื่อเสียงของหน่วยรบพิเศษของอังกฤษอย่าง “หน่วยสเปเชียลแอร์เซอร์วิส” หรือ SAS กันมาบ้าง เพราะนี่คือหน่วยรบที่ได้ชื่อว่ามีผลงานโดดเด่นที่สุดหน่วยหนึ่งสำหรับหน่วยรบยุคใหม่เลยก็ว่าได้

การที่หน่วย SAS โด่งดังมีชื่อเสียงขึ้นมาขนาดนี้ แน่นอนว่าย่อมต้องมีปัจจัยหลายอย่าง แต่หากเราจะพูดถึงเหตุการณ์ที่ได้ชื่อว่าทำให้ SAS กลายเป็นที่รู้จัก เราก็คงจะไม่กล่าวถึง “Operation Nimrod” ไม่ได้เลย

 

หน่วย SAS กับปืน H&K MP5 ภาพที่มีชื่อเสียงที่สุดของ Operation Nimrod

 

จุดเริ่มต้นของเรื่องราว

ย้อนเวลากลับไปในวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1980 ที่สถานทูตอิหร่านในกรุงลอนดอน ได้เกิดเหตุชายติดอาวุธ 6 คนบุกเข้าจับกุมตัวประกันในสถานทูต ซึ่งรวมไปถึงตำรวจ เอกอัครราชทูต และนักข่าวชาวอังกฤษ

พวกเขาประกาศตัวว่าเป็นกลุ่ม Democratic Revolutionary Front for the Liberation of Arabistan ซึ่งทำการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของภูมิภาคตนเองจากประเทศอิหร่าน และเริ่มเสนอข้อเรียกร้องต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงการที่รัฐบาลอิหร่านปล่อยตัวนักโทษที่เป็นคนในกลุ่มจากการควบคุมตัว

การเรียกร้องดังกล่าวถือว่าเป็นปัญหาที่ค่อนข้างซับซ้อนสำหรับประเทศอังกฤษที่มีความสัมพันธ์ไม่ค่อยจะดีนักกับอิหร่าน ดังนั้นพวกเขาจึงมีการวางแผนไว้ตั้งแต่ต้นว่าจะบุกยึดสถานทูตคืนด้วยกำลังหากผู้ก่อการร้ายสังหารตัวประกัน ดังนั้นในระหว่างที่มีการเจรจาเกิดขึ้น ทางอังกฤษก็ได้ทำการแอบวางกำลังหน่วย SAS ไปพร้อมๆ กันด้วย

 

สถานทูตอิหร่านในกรุงลอนดอน ที่เกิดเหตุ (ภาพจากปี 2008)

 

ขั้นตอนการเจรจา

ในช่วงแรกๆ ของการต่อรองกับคนร้าย การเจรจาจัดว่าเป็นไปได้ค่อนข้างดี กล่าวคือทางตำรวจสามารถหว่านล้อมให้ ผู้ก่อการร้ายปล่อยตัวประกันบางส่วนได้ โดยที่หลีกเลี่ยงที่จะทำตามสิ่งที่คนร้ายต้องการโดยไม่ไปยั่วโมโหคนร้าย

การซื้อเวลานี้ ไม่เพียงแค่ทำให้ทางประเทศอังกฤษสามารถวางกองกำลัง SAS ได้สำเร็จ แถมยังสามารถวางทีมดักฟังเพื่อรวบรวมข้อมูลและตำแหน่งของคนร้ายด้วย

ปัญหาคือในช่วงวันที่ 6 ของการจับตัวประกันต่างหาก นั่นเพราะในวันนี้หัวหน้ากลุ่มผู้ก่อการร้ายได้เริ่มเกิดความสงสัยขึ้นมาว่าทางอังกฤษไม่ได้คิดจะทำตามข้อเรียกร้องของพวกเขา และเพียงแค่กำลังซื้อเวลาเท่านั้น ดังนั้นการจับตัวประกันในครั้งนี้จึงเริ่มเลวร้ายขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ในเวลา 13:45 นาฬิกาของ วันที่ 5 พฤษภาคม ได้เกิดเพียงปืนดังขึ้น 3 นัด ก่อนที่ศพของหนึ่งในตัวประกันจะถูกส่งออกมาจากจากสถานทูตเพื่อเป็นหลักฐานว่าคนร้ายเอาจริงในเวลา 18:55 นาฬิกา

และราวๆ 7 นาทีหลังจากนั้น ทางตำรวจอังกฤษ ก็ตัดสินใจมอบการควบคุมสถานการณ์ทั้งหมด ให้เป็นหน้าที่ของ SAS

 

Max Vernon หัวหน้าทีมเจรจาต่อรองของตำรวจ

 

เริ่มการจู่โจม

อ้างอิงจากแผนการของพันโท Michael Rose การจู่โจมในครั้งนี้ มีกุญแจสำหรับอยู่ที่ความรวดเร็วและการจู่โจมแบบไม่ให้อีกฝ่ายตั้งตัว โดยทาง SAS ได้แบ่งกำลังพล 32 นายออกเป็นทีมจู่โจมสองทีม ได้แก่ทีมสีแดง และทีมสีน้ำเงิน

ทีมสีแดงได้รับคำสั่งให้เข้าจู่โจม 3 ชั้นบนของอาคาร ในขณะที่ 3 ชั้นล่างซึ่งรวมไปถึงชั้นใต้ดิน ถูกมอบให้เป็นหน้าที่ของทีมสีน้ำเงิน โดยในเวลา 19:23 นาฬิกา เสียงระเบิดได้ดังขึ้นเหนือหลังคาสถานทูตเพื่อการหันเหความสนใจ ในขณะที่ SAS บุกเข้าไปยังตัวอาคาร

 

ควันไฟจากหลังคาของสถานทูตอิหร่าน

 

น่าเสียดายว่าที่ไม่ใช่ทุกอย่างจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้ นั่นเพราะหนึ่งใน SAS จากทีมสีแดงได้เผลอทำกระจกแตกโดยบังเอิญ ซึ่งทำให้ทีมที่เหลือต้องบุกเข้าอาคารก่อนเวลาที่วางไว้ เท่านั้นยังไม่พอหนึ่งในหน่วย SAS ยังได้รับบาดเจ็บจากเพลิงที่ไหม้อาคารก่อนจะเข้าไปในสถานทูตเสียอีก

และก็เป็นเสียงกระจกแตกนั่นเองที่ทำให้ผู้ก่อการร้ายรู้ตัว ส่งผลให้คนร้ายเริ่มกราดยิงตัวประกัน 3 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ หนึ่งคนเสียชีวิตคาที่

 

 

ระหว่างการจู่โจม (ทีมสีแดง)

หลังจากการเริ่มต้นจู่โจมที่ไม่เป็นไปอย่างที่หวังนัก หน่วย SAS ก็เริ่มปฏิบัติการได้อย่างเข้าที่เข้าทางมากขึ้น โดยพวกเขาสามารถสังหารผู้ก่อการร้ายได้แทบจะทันทีหลังจากบุกเข้าในอาคารสองราย ซึ่งทั้งสองกำลังควบคุมตัวประกัน และหนึ่งในนั้นกำลังจะหยิบระเบิดออกมาพอดี

ในเวลานั้นหนึ่งในผู้ก่อการร้ายได้ทำการแฝงตัวอยู่กับตัวประกันและแอบอพยพออกจากอาคารมาด้วย โชคดีที่ทาง SAS สังเกตเห็นพิรุธในตอนที่เขากำลังเดินลงบันได ทำให้คนร้ายถูกพลักลงบันไดก่อนที่จะยิงซ้ำจนเสียชีวิต

การกระทำในเวลานั้นนับว่าเป็นการตัดสินใจที่ดีเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อตรวจสอบศพของคนร้ายในภายหลัง ทางเจ้าหน้าที่ก็พบว่าในเวลานั้น ผู้ตายได้หยิบระเบิดขึ้นมากำเอาไว้แล้ว

 

 

ระหว่างการจู่โจม (ทีมสีน้ำเงิน)

ในขณะที่ทีมสีแดงกำลังจู่โจมอาคาร 3 ชั้นบนอยู่ ทีมสีน้ำเงินก็บุกเข้าสู่อาคารจากระเบียงชั้นหนึ่ง โดยพวกเขาได้พบว่า หัวหน้าผู้ก่อการร้ายกำลังต่อสู้กับหนึ่งในตัวประกันที่เป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่

ด้วยการตัดสินใจที่แม่นยำ ทีม SAS ระบุตัวตัวประกันได้อย่างถูกต้อง และสังหารหัวหน้าผู้ก่อการร้ายทิ้งในทันที ในขณะที่ทีมที่เหลือบุกเข้าสังหารคนร้ายอีกคนด้วยความช่วยเหลือของระเบิดแสง

ในเวลานั้นตัวประกันทั้งหมดถูกสั่งให้นอนคว่ำและถูกมัดมืออยู่ที่สนามหญ้าเนื่องจากคนร้ายคนสุดท้ายยังมีชีวิตอยู่ที่ไหนสักแห่ง ซึ่งนับว่าเป็นโชคดีมากที่ตัวประกันจำหน้าคนร้ายคนสุดท้ายนี้ได้ ดังนั้น SAS จึงควบคุมตัวคนร้ายออกไป จบจู่โจมสถานทูตลงในเวลา 19:40 นาฬิกา

 

Sim Harris นักข่าว BBC หนึ่งในตัวประกันที่ได้รับการช่วยเหลือออกมาโดยหน่วย SAS

 

สรุปการจู่โจม

ในเวลาเพียงแค่ 17 นาทีของปฏิบัติการ หน่วย SAS สามารถสังหารผู้ก่อการร้ายไปได้ถึง 5 คน จับเป็นคนร้ายได้อีกหนึ่งคน และช่วยตัวประกันไว้ได้มากถึง 19 คน จากทั้งหมด 20 คน ทำการการบุกจับตัวประกันในสถานทูตครั้งนี้ จบลงไปโดยมีตัวประกันเสียชีวิตทั้งหมดรวมเบ็ดเสร็จเพียง 2 คนเท่านั้น

นี่อาจจะไม่ใช่ปฏิบัติการที่สมบูรณ์แบบมากนัก แต่มันก็ถือเป็นปฏิบัติการที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง

และด้วยความที่ว่าปฏิบัติการทั้งหมดได้รับการถ่ายทอดสดโดยสำนักข่าวจำนวนมาก ชื่อเสียงของ SAS หลังจากนั้น จึงกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางไป ในฐานะหนึ่งในหน่วยรบที่ยอดเยี่ยมและมีชื่อเสียงที่สุดนั่นเอง

 

นายกรัฐมนตรีมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ และหน่วย SAS หลัง Operation Nimrod

 

รวบรวมและเรียบเรียงโดย #เหมียวศรัทธา

ข้อขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก mirror, warhistoryonline, Simple History และ forces


Posted

in

,

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น