มันมีแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ที่ว่ามนุษย์เรานั้นกลายเป็นมนุษย์ขึ้นมาได้จากการทำอาหาร เนื่องจากการใช้ไฟย่างเนื้อสัตว์ได้ช่วยให้เราสามารถรับสารอาหารและพลังงานมากขึ้น เพียงพอที่จะเลี้ยงสมองใหญ่ๆ ที่เรามี
แต่จากงานวิจัยชิ้นใหม่เมื่อล่าสุดนี้เอง ดูเหมือนว่าจริงๆ แล้วมนุษย์อาจจะไม่ได้เพิ่งมาทำอาหารด้วยการอาศัยไฟอย่างที่เราเคยเชื่อกันก็ได้ กลับกันในอดีตพวกเขาอาจจะเคยใช้ “น้ำพุร้อน” ต้มอาหารกันมาก่อนแล้ว
แนวคิดข้อใหม่นี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ในปี 2016 ทีมนักโบราณคดีได้ทำการค้นพบหลักฐานน้ำพุร้อนโบราณใกล้ๆ แหล่งชุมชนอายุ 1.8 ล้านปี ของมนุษย์ในอดีตทางตอนเหนือของประเทศแทนซาเนีย
โดยน้ำพุร้อนของที่แห่งนี้ ในอดีตมีความสามารถที่จะสร้างน้ำร้อนในอุณหภูมิที่สูงถึง 80 องศาเซลเซียส และถูกพบพร้อมๆ เศษกระดูกสัตว์เป็นจำนวนมาก ซึ่งสร้างข้อสงสัยว่าคนสมัยก่อนจะใช้ที่แห่งนี้ทำอาหารได้เป็นอย่างดี
แน่นอนว่าด้วยหลักฐานที่เรามีในปัจจุบัน เราคงจะไม่สามารถบอกได้อีกต่อไปแล้วว่าสิ่งใดกันเป็นสาเหตุให้คนในอดีตลองทานสัตว์ที่ถูกปรุงจนสุกด้วยน้ำร้อน หรือคนเหล่านั้นมีการปรุงอาหารอย่างไร ในกรณีที่แนวคิดนี้เป็นจริง
แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะจินตนาการไม่ออกเช่นกันว่า มนุษย์จะลองนำอะไรก็ตามที่ตกไปตายในน้ำเหล่านี้มากิน
“หากมีสัตว์ป่าตกลงไปในน้ำจนสุก… ทำไมเราจะไม่ลองกินมันดูล่ะ” คุณ Ainara Sistiaga นักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน และ MIT นักเขียนหลักของงานวิจัยกล่าว
ซึ่งนอกจากเธอแล้วทั้งนักโบราณคดีของ MIT และมหาวิทยาลัย Alcalá ในสเปนเอง ก็ล้วนแต่จะเชื่อว่าการมีอยู่ของน้ำพุร้อนใกล้ๆ แหล่งชุมชนนี้ ย่อมไม่ได้เกิดขึ้นจากความบังเอิญเป็นแน่
และความเป็นไปได้นี้ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งในแนวคิดสำคัญของการวิวัฒนาการของมวลมนุษย์เลย เพราะนี่อาจจะหมายความว่ามนุษย์มีการทานอาหารเพื่อพัฒนาสมอง มานานก่อนที่เราจะค้นพบไฟเสียเมื่อราวๆ 1 ล้านปีก่อนอีก
และมันก็ไม่แน่เหมือนกันว่าการพัฒนาของสมองเหล่านี้เองก็เป็นได้ ที่อาจทำให้เรากลายเป็นผู้ที่มีความสามารถมากพอที่จะใช้ไฟได้ต่างจากสัตว์อื่นๆ ในอดีต
ที่มา iflscience, healthsciences และ mit
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น