ในช่วงชีวิตวัยเด็กวัยเรียนของเราก็มักจะมีการสรรหาวิธีการละเล่นต่างๆ เพื่อช่วยผ่อนคลายแก้เบื่อกัน แต่ก็เนื่องจากการเล่นที่สนุกของเด็กนักเรียนชายกับเด็กนักเรียนหญิงก็ต่างกัน
จะเล่นด้วยกันก็อาจจะไม่สนุกได้ อีกทั้งการเล่นบางอย่างก็กลายเป็นอะไรที่ไม่ดีในสายตาของครูไป
ยกตัวอย่างจากการแข่งรถกระดาษ ที่เด็กๆ จะฉีกกระดาษจากสมุดเพื่อนำมาพับให้เป็นรถ เสมือนยานพาหนะตัวแทนในสนามแข่ง จากนั้นก็เป่าแข่งกันเพื่อให้รถกระดาษพุ่งทะยานเข้าสู่เส้นชัยและรับชัยชนะในหมู่เพื่อน
คุณ Prapavadee Samarn ได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดในฐานะคุณครูสอนเด็กนักเรียนเช่นกัน หากแต่ว่าเมื่อก่อนเธอมองว่ารถกระดาษเหล่านี้คือปัญหา ตนเคยถามเด็กด้วยความโมโหว่าทำไมถึงต้องฉีกกระดาษสมุดเพื่อมาเล่นพับรถกัน?
ทำไมไม่ใช้กระดาษที่ใช้แล้วมาพับเป็นรถ ทำไมต้องเอาสมุดที่ใช้เรียนมาฉีกเล่นกัน… จนกระทั่งเธอได้คำตอบจากนักเรียนที่ทำให้ฉุกคิดได้ว่า ถ้าหากใช้กระดาษ A4 พับ รถมันจะหนักทำให้เป่าไปได้ไม่ไกล
จากจุดนี้เองก็ทำให้ครูได้รู้ว่านี่มันไม่ใช่การพับรถเล่นๆ แล้ว เพราะเด็กเกิดการเรียนรู้ว่าควรใช้กระดาษชนิดไหนในการพับ ยิ่งคุยต่อไปเรื่อยๆ ก็ได้เรียนรู้ว่าเด็กๆ ใช้วิธีการแบบไหนในการพับ วิธีเป่าลม ใช้เทคนิคลงแป้งหรือผลชอล์ก
ผลงานการออกแบบรถพับกระดาษของเด็กนักเรียน
.
.
.
.
.
.
ทริคเล็กๆ ที่เพิ่มความแรงให้เร็วอย่างการพับที่ต้องออกแบบให้รถบางและเรียบ ขนาดตัวรถและรูปแบบตัวถัง ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือความรู้ของเด็กๆ ที่เกิดจากการเล่นพับรถทั้งสิ้น
ครูจึงหาสมุดเก่าที่ใช้แล้วมาแจกให้นักเรียนได้พับรถเล่นกัน ปล่อยให้เด็กๆ ได้สอนพับรถกับคนที่ไม่เคยเล่น แล้วกิจกรรมนี้ก็ทำให้ได้เห็นภาพของเด็กที่เรียนไม่เก่ง ได้มีโอกาสสอนพับรถให้กับเด็กที่เรียนเก่งเป็นตัวท็อปของห้องด้วย
การให้เด็กได้ช่วยกันสอนพับรถก็ทำให้รู้สึกได้ว่าเด็กได้มีตัวตนมากที่สุดในสายตาของเพื่อนๆ ช่วยกันตกแต่งรถ ช่วยแนะนำการเป่า ช่วยกันออกแบบสนามแข่ง แบ่งทีมแข่ง แล้วก็ลงแข่งเป่ารถ มีการปรึกษากันภายในทีม ช่วยกันแข่งช่วยกันลุ้น
“บางคนเรียนไม่เก่ง…แต่พับรถได้เร็วและหลากหลายแบบ บางคนพูดน้อย..แต่เป่ารถได้ไกลที่สุดในห้องและเป็นที่ปรึกษาที่ดีเรื่องการเป่ารถให้เพื่อนๆ บางคนเรียนช้า..แต่เขาถนัดเรื่องการพับรถได้สวยงามกว่าใคร เด็กช/ญ ไม่ค่อยจะเล่นด้วย วันนี้ก็มาช่วยกันพับและตกแต่งรถ”
.
.
.
.
“หรือบางครั้งเด็กไม่ได้ต้องการให้เราถามเขาตลอด ว่าทำไมถึงทำแบบนี้ เพราะอะไรถึงเป็นแบบนี้ เขาก็แค่อยากทำ และหากเราเข้าใจ มันไม่ใช่เรื่องแย่อะไรเลย
วันนี้เด็กๆ มีกระดาษสมุดเล่มเก่าของครูให้ฉีกมาพับรถ ไม่ต้องแอบฉีกสมุดของตัวเองแล้ว เราแค่คุยสร้างความเข้าใจกัน กระดาษควรทิ้งที่ไหน ควรเล่นที่ไหน เล่นแล้วต้องเก็บ”
.
.
.
“โลกของเด็กๆจะได้ดำเนินต่อไปโดยมีครูยืนดูอยู่ห่างๆ อย่าลืมว่าเราเองก็โตมาพร้อมกับรถเหล่านี้เหมือนกัน”
https://www.facebook.com/mookjp.prapavadee/posts/2725055091040055
เรียบเรียงโดย #เหมียวเลเซอร์
ที่มา: @mookjp.prapavadee
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น