กลายเป็นประเด็นที่ทำให้ชาวออสเตรเลียเริ่มไม่พอใจกับแนวทางการบริหารจัดการของรัฐบาลอีกครั้ง เมื่อมีเอกสารที่ระบุให้ทางหน่วยฉุกเฉินที่เข้าไปควบคุมและตรวจสอบพื้นที่หลังเกิดเหตุไฟป่า
เนื่องจากเมื่อเกิดเหตุไฟป่า หน่วยงานต่างๆ จะต้องออกปฏิบัติหน้าที่ตามแนวทางที่ถูกกำหนดเอาไว้ และหนึ่งในเรื่องที่ต้องทำก็คือการกำจัดสัตว์ป่ากำพร้าที่รอดชีวิตจากไฟป่า
แผนรับมือสัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าของรัฐวิกตอเรียปี 2018 ระบุว่าการช่วยเหลือพักฟื้นสัตว์ป่ากำพร้าอย่างจิงโจ้หรือโคอาลา
ทางรัฐวิกตอเรียจัดให้อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์สัตว์ทั่วไป หากพบอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุไฟป่าจะไม่ให้การช่วยเหลือหรือสนับสนุนใดๆ
แผนดังกล่าวระบุแนวทางให้อาสาสมัครหน่วยฉุกเฉินต้องทำตาม โดยระบุว่าสัตว์เหล่านี้ต้องใช้เวลาดูแลและพักฟื้นนานและไม่อาจกลับไปใช้ชีวิตตามวิถีธรรมชาติได้เหมือนเดิม
หากพบเห็นทางรัฐอนุมัติให้อาสาสมัครใช้วิธีการุณยฆาตตามความเหมาะสม ทั้งฉีดยา ใช้ของแข็งทุบ หรือยิงด้วยปืน แม้ว่าภายในเอกสารฉบับเดียวกันก็พูดถึงเรื่องวิธีการเลี้ยงและดูแลสัตว์ป่ากำพร้าเหล่านี้ด้วยก็ตาม
ในขณะที่เหล่านักดับเพลิง ชาวบ้านในพื้นที่ และอาสาสมัครจากศูนย์ช่วยเหลือพากันช่วยสัตว์ป่าเหล่านี้ออกมา แต่เมื่อเจ้าหน้าที่หน่วยฉุกเฉินของรัฐต้องลงพื้นที่ปฏิบัติงาน ก็ต้องทำตามเอกสารแนวทางการปฏิบัติที่ระบุเอาไว้ ทำให้พวกเขามีความรู้สึกแย่เมื่อถูกสั่งให้ยิงทิ้งแทนที่จะช่วยเหลือพวกมัน
Nikki Medwell เจ้าหน้าที่จากศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า Rex Box ระบุกับทาง Yahoo News Australia ว่าเธอรู้สึกเหมือนกับทางรัฐบาลไม่ได้ช่วยทำอะไรให้ดีขึ้นกับเหล่าสัตว์ป่าท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าเลย
“สัตว์ที่มีจำนวนมากอย่างวงศ์จิงโจ้หรือโคอาลา พวกเขามองว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือ ไม่สำคัญว่าพวกมันจะถูกเผาไหม้มากน้อยแค่ไหน”
“ถ้าหากพบเห็นอยู่ในพื้นที่ไฟป่าพวกมันจะถูกยิงทันที พวกเขามองว่าพวกมันเป็นสัตว์ท้องถิ่น มีจำนวนมากในประเทศ ทั้งๆ ที่ความจริงพวกมันใกล้จะสูญพันธ์ุเข้าไปทุกที”
อย่างไรก็ตามพอเกิดเป็นเรื่องที่ประชาชนส่งเสียงไม่พอใจ ทางโฆษกของกรมทรัพยากรธรรมชาติรัฐวิกตอเรียออกมาระบุว่าแผนรับมือดังกล่าวนั้นเป็นเพียงแค่แนวทางในการตีความเท่านั้น
ตัวอย่างเช่นหากพบจิงโจ้กำพร้าไม่มีขน ตาปิด หูตก ลักษณะเช่นนี้ควรได้รับการการุณยฆาต แต่สำหรับจิงโจ้ที่มีขนแล้วจะต้องพิจารณาแต่ละตัวเป็นเคสแยกกันไป
โฆษกระบุว่าทางหน่วยงานจะใช้ปัจจัยต่างๆ ในการตัดสินแนวทางการดำเนินงานว่าจะนำตัวไปรักษาฟื้นฟูหรือการุณยฆาต
ซึ่งหนึ่งในปัจจัยนั้นก็คือระยะเวลาในการพักฟื้น ใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติได้ และโอกาสที่จะมีชีวิตรอดหลังจากพักฟื้นไปแล้ว
โดยที่ผ่านมาศูนย์พักฟื้นและดูแลสัตว์ป่าใช้เวลารักษาและงบประมาณไปส่วนนี้เป็นจำนวนมาก (เฉพาะของภาครัฐ) และยังไม่มีการเปิดเผยจำนวนตัวเลขของสัตว์ป่ากำพร้าที่ถูกการุณยฆาตไปแล้วกี่ตัว
ที่มา: awpc.org.au, yahoo, mothership, unilad
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น