CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

ยังคงถกเถียงในแนวคิด “คุกสีชมพู” ทำให้นักโทษใจเย็นลง หรือก้าวร้าวมากขึ้นกันแน่?

คุก คือสถานที่สำหรับคุมขังเหล่าผู้กระทำความผิดในคดีต่างๆ เป็นสถานที่ที่คงไม่มีใครอยากจะเข้าไป ดูมืดมิด มีเพียงแสงอาทิตย์เพียงน้อยนิดที่ลอดผ่านช่องหน้าต่างเล็กๆ เข้าไป

แต่สำหรับเรือนจำหลายๆ แห่งในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มันอาจดูไม่เป็นอย่างนั้นเสียทีเดียว เมื่อห้องขังของพวกเขากลับดูสดใสมากกว่าเดิม หลังจากที่มันถูกเปลี่ยนให้เป็น ‘สีชมพู’

 

คุกสีชมพูที่ได้รับความนิยมในเรือนจำหลายๆ แห่งของสวิตเซอร์แลนด์

 

จุดเริ่มต้นของคุกสีชมพู

แนวคิดนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงปลายของยุค 1970 นักวิจัยชาวอเมริกัน Alexander Schauss จากสถาบันวิจัยทางชีวสังคม เขาต้องการทดสอบพลังของสีที่ส่งผลต่อพฤติกรรมมนุษย์

*มีงานวิจัยจำนวนมากที่อธิบายว่าสีมีผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่นสีแดงทำให้รู้สึกอยากอาหาร และสีน้ำเงินทำให้รู้สึกเบื่ออาหาร เป็นต้น*

เพราะอย่างนั้น Alexander จึงเริ่มการทดลองจากความเชื่อนั้น ซึ่งเขาก็ได้เกิดความคิดที่ว่า…

“สีชมพูสามารถลดพฤติกรรมก้าวร้าวของคนได้”

 

 

การทดลองในครั้งนั้น เขาให้กลุ่มตัวอย่างเพศชายมองไปที่โปสเตอร์สีชมพู ในขณะที่กางแขนอยู่ ก่อนพบว่าแขนของพวกเขานั้นจะรู้สึกอ่อนแรง แขนตกลงมาอยู่ข้างลำตัวอย่างง่ายดาย

ขณะเดียวกัน เมื่อให้กลุ่มทดลองกลุ่มเดิมยืนกางแขนจ้องไปที่โปสเตอร์สีน้ำเงิน ผลที่ได้กลับตรงกันข้าม พวกเขารู้สึกว่าตนเองมีกำลังที่จะยกแขนค้างไว้ได้ในเวลานานๆ

 

 

มันกลายเป็นสีที่ได้รับความนิยม

แนวคิดดังกล่าวถูกนำไปใช้จริงโดยฝีมือของทหารเรือชาวอเมริกัน Gene Baker และ Ron Miller เมื่อทั้งสองคนลองนำสีชมพูเฉดเดียวกันนั้นไปทาในห้องคุมขังของกองทัพ แล้วพบว่านักโทษมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปอย่างมาก

สีชมพูดังกล่าวจึงถูกเรียกว่า Baker-Miller Pink ซึ่งมาจากชื่อของทหารเรือทั้ง 2 คน และเริ่มถูกนำไปใช้ในเรือนจำหลายต่อหลายแห่งในช่วงยุค 1980

 

 

ความขัดแย้งในผลงานวิจัย

ทางด้าน Alexander นั้น เขาก็ได้ทำการทดลองเพิ่มเติมเพื่อดูว่าสีอื่นๆ จะส่งผลต่อพฤติกรรมของนักโทษอย่างไรบ้าง

แต่เมื่อทำการวิจัยมากยิ่งขึ้น เขาถึงได้เริ่มเห็นว่าสีชมพูดังกล่าวนั้นไม่ได้ทำให้ผู้ถูกคุมขังใจเย็นลง ทว่าพวกเขาเหล่านั้นกลับมีพฤติกรรมก้าวร้าวมากกว่าเดิมด้วยซ้ำไป

 

 

30 ปีต่อมา การทดลองของ Alexander ก็ได้ถูกนำกลับมาวิจัยอีกครั้ง โดยนักจิตวิทยาชาวเยอรมัน Oliver Genschow

Oliver นำสี Baker-Miller Pink มาทดสอบกับกลุ่มนักโทษดูบ้าง และผลที่ได้ก็คือสีดังกล่าวนั้นไม่ได้ทำให้เหล่านักโทษใจเย็นลงเลย…

 

Oliver Genschow นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน

 

แต่ก็ยังมีคนที่เชื่อว่ามันช่วยลดพฤติกรรมก้าวร้าวได้จริงๆ

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ก็ถูกมองว่ามันอาจเป็นเพราะเฉดสีที่ดูสว่าง หรือสี Baker-Miller Pink นั้นอาจเป็นสีชมพูที่ร้อนแรงจนเกินไป

จากความคิดนั้นจึงทำให้ในปี 2011 Daniela Späth นักจิตวิทยาชาวสวิตเซอร์แลนด์ เกิดความคิดที่จะทำการทดลองของตัวเองขึ้นมาบ้าง โดยใช้สีชมพูที่มีเฉดสีต่างออกไปจากก่อนหน้านี้

สีชมพูที่เธอใช้นั้นจะมีความอ่อนกว่า ดูนุ่มนวลกว่าสี Baker-Miller Pink และเธอก็ตั้งชื่อให้กับมันว่าเป็นสี Cool Down Pink

 

Daniela Späth นักจิตวิทยาชาวสวิตเซอร์แลนด์

 

สีชมพูที่ว่านั้นได้ถูกทาลงไปในเรือนจำ 10 แห่งทั่วประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และ Daniela ก็ได้ทำการสังเกตพฤติกรรม รวมถึงเก็บข้อมูลนานกว่า 4 ปี

ผลที่ได้คือ เจ้าหน้าที่เรือนจำทั้งหลายต่างบอกว่ามันสามารถลดพฤติกรรมความรุนแรงก้าวร้าวของนักโทษลงไปได้อย่างมาก เมื่อเทียบกับกลุ่มนักโทษที่อาศัยอยู่ในห้องที่ไม่ได้ทาสีชมพูลงไป

นอกจากนั้น Daniela ยังบอกอีกว่า เจ้าสี Cool Down Pink นี้มีผลต่อการลดความตึงเครียด ทำให้นักโทษรู้สึกผ่อนคลายได้อย่างรวดเร็ว

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังคงมีคนสับสนเกี่ยวกับสี Baker-Miller Pink และ Cool Down Pink เพราะเฉดของมันใกล้เคียงกันมาก เหมือนภาพนี้ที่ถูกเรียกแตกต่างกันไปในหลายๆ สื่อ

 

ด้วยเหตุนั้นจึงทำให้สีชมพูดังกล่าวได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในเรือนจำหลายๆ แห่งของสวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงในประเทศเยอรมนีเองก็เริ่มนำสีนี้ไปใช้ด้วยเช่นกัน

ไม่ใช่เพียงแค่นั้น เพราะ Daniela ก็ยังแนะนำอีกว่าในอนาคตควรจะนำสีนี้ไปใช้กับพื้นที่รักษาความปลอดภัยภายในสนามบิน โรงเรียน หรือตามโรงพยาบาลจิตเวช

 

 

มันช่วยลดพฤติกรรมก้าวร้าวของนักโทษได้จริงหรือ?

แม้การใช้สี Cool Down Pink จะได้รับความนิยมมากขนาดนั้น และดูเหมือนว่าหลายๆ คนจะยอมรับในแนวคิดที่ว่าสีชมพูช่วยลดพฤติกรรมก้าวร้าวได้ แต่ทว่าสิ่งนั้นมันก็ยังเป็นที่ถกเถียงมาจนถึงปัจจุบัน

อดีตนักโทษในสวิตเซอร์แลนด์คนหนึ่ง ผู้ให้สัมภาษณ์กับทางสำนักข่าว The Telegraph เขาได้เผยถึงความรู้สึกของตนเองเกี่ยวกับการถูกจองจำในห้องขังสีชมพูว่า…

“มันเหมือนถูกขังไว้ในห้องนอนของเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ และมันก็ทำให้ผมรู้สึกอับอายเอามากๆ”

 

 

ไม่ใช่เพียงแค่นั้น เพราะยังมีนักโทษอีกหลายคนที่บอกว่าสีชมพูนั้นมันคือสีของผู้หญิง เป็นตัวแทนของความอ่อนแอ เป็นการสร้างความแบ่งแยก เหมือนเป็นการเหยียดเพศ และสร้างความอัปยศอดสูให้แก่เหล่านักโทษ

เพราะอย่างนั้นเอง การที่นักโทษชายจำนวนมากต้องอดทนใช้ชีวิตอยู่ในห้องแบบนั้น มันจึงเหมือนกับเป็นการสร้างความเครียด ทำให้เขารู้สึกอยากแสดงออกถึงพฤติกรรมก้าวร้าวมากกว่าเดิมนั่นเอง

 

เรียบเรียงโดย #เหมียวตะปู

ที่มา: The Telegraph , Psychology Today , Research Gate , Sputnik News , The Conbersation , Oddity Central , Mirror


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น