เรื่องราวเกี่ยวกับดราม่าของนักรีวิวกับกิจการร้านค้าต่างๆ ในมุมหนึ่งนั้น นักรีวิวคือตัวแทนของผู้บริโภคที่จะบอกเล่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิ่งที่ตนเองเจอมา และให้ผู้ชมได้นำข้อมูลไปพิจารณากันอีกที
แต่ถ้าหากเกิดข้อผิดพลาดด้วยการให้ร้ายกับร้านค้า โดยที่ไม่ได้เป็นความผิดของร้านเลย มันก็จะก่อให้เกิดความเสียหายแบบรุนแรงมากๆ ตามมาอย่างในเคสนี้
ยูทูบเบอร์ชาวเกาหลีในนาม HayanTree เป็นนักรีวิวอาหารและร้านอาหารชื่อดังพอสมควร เขามียอดผู้ติดตามมากกว่า 700,000 คน ซึ่งนั่นก็คงจะพอการันตีความน่าเชื่อถือในการรีวิวได้บ้าง แต่ก็นั่นแหละครับคนเราก็ผิดพลาดกันได้
ในวันที่ 7 ธันวาคม 2020 เขาโพสต์คลิปลงยูทูบรีวิวโปรโมทร้านอาหารคันจังเคจัง (ปูดองเกาหลี) ทานได้แบบไม่อั้นในเมืองแทกู
โดยจุดหนึ่งในคลิปดังกล่าวเขาสังเกตเห็นเศษเมล็ดข้าวที่เหลืออยู่ในจานปูดอง ทำให้เขาตั้งข้อสงสัยว่าร้านอาจนำของเก่ามาให้ลูกค้าทานหรือเปล่า…
รีวิวดังกล่าวก็กลายมาเป็นประเด็นใหญ่โตเพียงชั่วข้ามคืน มีคนดูมากกว่า 1 ล้านวิวในไม่กี่วัน และส่งผลกระทบต่อร้านอาหารที่ถูกกล่าวหาอย่างรุนแรงจนต้องยอมปิดร้านในเวลาต่อมา
คำชี้แจงจากเจ้าของร้านต่อสื่อ Korea Herald
“ภายหลังจากที่ลงคลิปไปได้ประมาณ 2-3 ชั่วโมง พนักงานร้านพยายามเขียนคอมเมนท์อธิบายหลายครั้งแล้วว่าไม่ได้นำอาหารเก่ามาขายให้ลูกค้า
และเรามีคลิปจากกล้องวงจรปิดที่สามารถใช้เป็นหลักฐานพิสูจน์ได้ แต่คอมเมนท์ชี้แจงของร้านถูกบล็อคจนคนอื่นไม่เห็นเลย”
ภาพกล้องวงจรปิดที่ถูกพูดถึงนั้นเผยให้เห็นว่าเมล็ดข้าวที่ยูทูบเบอร์กล่าวหา ก็มาจากชุดแรกที่เขาทานไปและมันก็เหลืออยู่บนจานก่อนที่จะขอให้พนักงานนำไปเติมอาหารใหม่อีกครั้ง
ในที่สุดตัวของ HayanTree ก็ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของเขาเอง ทำการลบคลิปรีวิวนั้นออกไป และลงคลิปวิดีโอชี้แจงและขอโทษตามมาในภายหลัง
“ผมได้ไปขอโทษเจ้าของร้านเกี่ยวกับคลิปที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ไปแล้ว แต่เจ้าของร้านรู้สึกไม่สบายใจที่จะให้ผมทำคลิปใหม่ ผมควรจะทำคลิปที่มีข้อเท็จจริงตรงไปตรงมามากกว่านี้ และผมขอโทษจากความไม่รู้ของผมด้วย”
จากการแถลงของยูทูบเบอร์นั้นช่วยกู้ชื่อเสียงของร้านกลับมาได้เพียงน้อยนิด เพราะเจ้าของร้านระบุว่าตอนที่เขากลับมาที่ร้านอีกครั้งเพื่อถ่ายคลิปใหม่ ร้านได้ปิดตัวลงไปเรียบร้อยแล้ว
“ตอนที่เขากลับมาถ่ายคลิปอีกครั้ง เราปิดร้านไปแล้ว ผมรู้สึกหงุดหงิดและอยากรู้ว่าจะมีวิธีไหนที่ช่วยป้องกันพวกยูทูบเบอร์แบบนี้ได้บ้าง มันน่ากลัวยิ่งกว่าไวรัสโคโรนาอีก
ผมกำลังยื่นคำร้องให้มีข้อกฎหมายและข้อบังคับที่จะช่วยปกป้องผู้ประกอบการสามารถโฟกัสกับธุรกิจตัวเองได้อย่างสบายใจบ้าง”
แน่นอนว่าเขาทำจริงๆ ไม่ได้พูดเล่นๆ เพราะเจ้าของร้านได้เปิดเสนอให้ลงชื่อบนเว็บไซต์ Cheong Wa Dae เกี่ยวกับกรณีที่ได้รับความเสียหายจากคลิปของนาย HayanTree ที่รับผิดชอบได้เพียงน้อยนิดและร้านก็เสียชื่อไปแล้ว และร้องทางการให้เข้ามาควบคุมยูทูบเบอร์ไม่ให้ไปก่อความเสียหายกับธุรกิจอื่นๆ อีก
ส่วนของนาย HayanTree เองก็เจอกับยอดผู้ติดตามที่ลดจำนวนลงจาก 700,000 เหลือ 645,000 คน
นอกจากนั้น มันก็ยังลุกลามไปถึงการโต้เถียงในโลกออนไลน์เกี่ยวกับประเด็นที่ว่าคนที่มีชื่อเสียงบนโซเชียลมีเดีย กับการควบคุมที่ยังไม่มีข้อกำหนดใดๆ ที่ชัดเจน ก่อให้เกิดการล้ำเส้นและความเสียหายมากน้อยเพียงใดนั่นเอง
เรียบเรียงโดย #เหมียวเลเซอร์
ที่มา: 하얀트리HayanTree, koreaherald
Advertisement
0 Comments