ตลอดช่วง 129 ปีที่ผ่านมา ภายในพิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกนในสหรัฐอเมริกา ยังมี มัมมี่ซึ่งมีความสมบูรณ์สูงซึ่งได้รับชื่อเล่นว่า “Ñusta” หรือ “เจ้าหญิง” เก็บเอาไว้ แต่มัมมี่ร่างนี้นั้น เดิมทีแล้วเป็นของชาวอินคาแห่งโบลิเวีย ไม่ใช่วัตถุโบราณของมิชิแกนหรือสหรัฐฯ แต่อย่างไร
ด้วยเหตุนี้เองเมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยความร่วมมือของสถานทูตสหรัฐฯ ในลาปาซ โบลิเวีย และคุณ William A. Lovis ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านมานุษยวิทยาแห่งรัฐมิชิแกน รัฐบาลของทั้งสองประเทศก็ได้ตกลงที่จะทำการส่งมอบมัมมี่ Ñusta กลับสู่ประเทศบ้านเกิดจนได้
นี่นับว่าเป็นครั้งแรกที่วัตถุทางโบราณคดีที่มีความสำคัญในระดับมัมมี่ถูกส่งตัวคืนให้กับประเทศทางอเมริกาใต้ และนับเป็นหนึ่งในความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของรัฐบาลโบลิเวียในการติดตามวัตถุโบราณที่หายไปจากประเทศเลยก็ว่าได้
โดยมัมมี่ Ñusta ที่ถูกส่งกลับในครั้งนี้ เป็นมัมมี่ของเด็กหญิงวัย 8 ขวบที่เชื่อกันว่าเคยมีชีวิตอยู่ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 15 และถูกพบเป็นครั้งแรกในพื้นที่ภูเขาแอนเดียนใกล้ๆ เมืองลาปาซ
ร่างของเธอนั้น อยู่ในสภาพที่มีความสมบูรณ์พร้อมเป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่บนตัวมัมมี่ยังมีเศษผ้า มือและเท้าของยังมีผิวหนังอยู่ และที่สำคัญคือในกะโหลกศีรษะเองก็ยังคงมีสมองเก็บอยู่ภายในด้วย
นักโบราณคดีเชื่อว่า ในตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ Ñusta น่าจะเคยเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของเผ่าอินคามาก่อน อ้างอิงจากการที่รางของเธอถูกเก็บไว้ใน “Chullpa” สุสานหินขนาดใหญ่ซึ่งสร้างขึ้นโดยชาวไอมารา และถูกฝังไว้กับของมีค่ามากมายอย่างกระเป๋า ขวดดิน รองเท้าแตะ และพืชหลายชนิดอย่างข้าวโพดและโคคา
“Chullpa” สุสานหินขนาดใหญ่ของชาวไอมารา
ของมีค่าที่ฝังอยู่กับตัวมัมมี่
แต่แม้ว่าเธอจะเป็นบุคคลสำคัญของเผ่าอินคา และได้รับชื่อเล่นที่แปลว่าเจ้าหญิงก็ตาม ทีมนักโบราณคดีก็ยังไม่ได้ฟันธงว่าเธอเป็นเจ้าหญิงของเผ่าจริงๆ แต่อย่างไร นั่นเพราะมันมีความเป็นไปได้ว่าจริงๆ แล้ว Ñusta จะเป็นเพียงผู้ถูกเลือกในพิธีบูชายัญได้เช่นกัน
แต่ไม่ว่าตัวจนที่แท้จริงของเด็กหญิงคนนี้จะเป็นใครกันแน่ เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการที่รัฐบาลสามารถนำร่างของเธอกลับมาได้นั้นนับว่าเป็นข่าวดีมากๆ ของชาวโบลิเวียเลย
โดยในปัจจุบัน ร่างของ Ñusta ได้ถูกนำไปเก็บไว้ยังห้องเย็นที่พิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งชาติลาปาซเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และทีมนักวิทยาศาสตร์ของโบลิเวียก็จะทำการศึกษาร่างของเธออย่างละเอียดอีกครั้งต่อไป
ที่มา allthatsinteresting, ancient-origins และ thesun
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น