CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

นักวิทย์มุ่งไขความลับจีโอดที่ใหญ่ที่สุดในโลก คาดเกิดขึ้นตอนทะเลเมดิเตอร์เรเนียนหายไป

เมื่อเราพูดถึงผลึกแร่ที่เป็นโพรงภายใน หรือที่รู้จักกันในชื่อ “จีโอด” (Geode) ตามปกติคนที่รู้จักผลึกแร่เหล่านี้ก็คงจะนึกถึงหินทรงมนกลวงๆ ที่มีคริสตัลอยู่ภายใน และมีขนาดไม่เกินฝ่ามือของเราขึ้นมาเป็นอย่างแรก

แต่ลึกเข้าไปในเหมืองแร่ที่ถูกทิ้งของประเทศสเปน เราจะสามารถพบกับจีโอดที่ใหญ่โตอย่างไม่น่าเชื่ออย่าง “The Pulpí Geode” ซึ่งมีขนาดความจุมากถึง 11 ลูกบาศก์เมตร เรียกได้ว่าสามารถจุคนในครอบครัวใหญ่ๆ ได้ทั้งครอบครัวเลย

 

 

แน่นอนว่าด้วยขนาดที่ใหญ่โตขนาดนี้มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ผู้คนจะให้ความสนใจใน The Pulpí เป็นอย่างมาก และก็มีหลายคนไม่น้อยเลยที่สนใจอยากทราบที่มาของจีโอดยักษ์อันนี้

“โดยทั่วไปแล้วมัน (จีโอด) จะถูกอธิบายว่าเป็นโพรงรูปไข่ภายในหินที่เรียงรายไปด้วยคริสตัล” คุณ Juan Manuel García-Ruiz นักธรณีวิทยาที่สภาวิจัยแห่งชาติสเปนกล่าว

 

 

คริสตัลเหล่านี้โดยมากแล้วจะสามารถเกิดขึ้นจากการที่น้ำไหลผ่านรูเล็กๆ ในพื้นผิวของหิน พัดเอาเศษแร่ไปติดตามขอบโพรงหินดังกล่าวจนเกิดเป็นอเมทิส ควอทซ์ หรือแร่อื่นๆ จากการทับถมตลอดช่วงเวลาพันหรือล้านปี

อย่างไรก็ตามคำอธิบายในจุดนี้จะใช้ได้แค่ในกรณีที่จีโอดมีขนาดไม่ใหญ่มากเท่านั้น เพราะในกรณีของ The Pulpí ตัวโพรงของมันนั้นใหญ่โตเกินกว่าที่จะเกิดจากน้ำไหลผ่านรูเล็กๆ ในพื้นผิวของหินธรรมดาๆ เป็นแน่

 

 

ด้วยเหตุนี้เองปริศนาต้นกำเนิดของ The Pulpí จึงเป็นอะไรที่นักวิทยาศาสตร์ไม่เคยมีโอกาสได้ทำความเข้าใจอย่างจริงจังเลยตั้งแต่ในตอนที่มีการค้นพบ จีโอดยักษ์อันนี้ในปี 2000 จนกระทั่งเมื่อที่คุณ García-Ruiz และเพื่อนๆ ตัดสินใจที่จะหาความจริงของมัน

เขาระบุไว้ในงานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ไปในวารสาร Geology เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 2019 ว่าเสาคริสตัลของ The Pulpí เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากยิปซัม ซึ่งตามปกติจะเกิดจากน้ำและแคลเซียมซัลเฟต แต่ตัวเหมืองที่พวกเขาพบกับจีโอดเป็นเหมืองที่แห้ง ดังนั้นเจ้า The Pulpí จึงเป็นสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นมาเป็นเวลานานมากๆ แล้ว

 

 

น่าเสียดายที่เดือยยิปซั่มของตัวจีโอดนั้นมีความบริสุทธิ์อย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งทำให้ฃการวัดอายุด้วยไอโซโทปยูเรเนียม ซึ่งตามปกติให้วัดอายุแร่หินไม่สามารถทำได้อย่างที่ควร บังคับให้นักวิทยาศาสตร์ต้องใช้วิธีหาอายุที่ทำได้ยากกว่าอย่างการวัดอายุแร่อื่นๆ ในเหมือง เพื่อเปรียบเทียบหาช่วงเวลาที่แคลเซียมซัลเฟตเกิดขึ้นแทน

พวกเขาพบว่าคริสตัลของ The Pulpí น่าจะมีอายุอย่างต่ำๆ 60,000 ปี และเริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงเวลาราวๆ 2 ล้านปีก่อน ซึ่งนั่นหมายความว่าตัวแคลเซียมซัลเฟตที่ทำให้เกิดคริสตัลเองก็น่าจะต้องมีอายุมากกว่านั้นอีก

 

 

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลากับเหตุการณ์ทางธรณีวิทยาที่น่าจะเป็นไปได้ที่สุด นักวิทยาศาสตร์ก็พบว่า The Pulpí นั้นน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ใหญ่อย่างการที่น้ำทะเลเมดิเตอร์เรเนียนหายไปจนเกือบหมดเมื่อ 5.5 ล้านปีก่อนเลยนั่นเอง

 

ที่มา livescience, geoscienceworld


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น