หมึกในกลุ่มหมึกกล้วยที่มีหนวดที่ยาวกว่าความสูงของคนทั่วไป แต่กลับมีลำตัวเล็กพอๆ กับธนบัตร
นี่คือลักษณะในเบื้องต้นของหมึกบิ๊กฟิน (Magnapinnidae) หมึกสายพันธุ์หายากแห่งท้องทะเลซึ่งตลอด 113 ปีตั้งแต่ที่มันถูกค้นพบ เราก็เคยพบเห็นมันเพียงแค่ 12 ครั้งเท่านั้นทั่วโลก
ดังนั้น นี่จึงอาจจะถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับวงการเลย เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา ภายในวารสาร PLOS ONE ทีมนักวิทยาศาสตร์จาก องค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพได้ออกมาเปิดเผยว่า
พวกเขาได้ค้นพบหมึกบิ๊กฟินเพิ่มเติมอีกถึง 5 ครั้งแล้ว ที่พื้นที่อ่าวเกรตออสเตรเลียไบต์ ในทางใต้ของประเทศออสเตรเลีย
การค้นพบในครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นการค้นพบหมึกบิ๊กฟินครั้งแรกของประเทศออสเตรเลียเท่านั้น แต่มันยังเป็นครั้งแรกที่หมึกสายพันธุ์นี้ถูกพบพร้อมกัน 5 ตัวและถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ของทีมสำรวจเลย
“ฉันรู้สึกตะลึงและตื่นเต้นมาก เมื่อได้เห็นหมึกบิ๊กฟินเป็นครั้งแรกในภาพถ่ายที่กล้องของเราเก็บรวบรวมมา” คุณ Deborah Osterhage นักวิจัยทางทะเลผู้เขียนหลักของงานวิจัยกล่าว
อ้างอิงจากเธอหมึกบิ๊กฟินในครั้งนี้ถูกพบในช่วงเวลาราวๆ 40 ชั่วโมงของการสำรวจท้องทะเลที่ความลึก 950-2,400 เมตร
และจากการตรวจสอบหนึ่งในหมึกที่พบด้วยระบบเลเซอร์มันก็มีความยาวถึง 1.8 เมตร ซึ่งความยาวที่ออกมานี้ราวๆ 15 เซนติเมตรเป็นตัวของมันจริงๆ ในขณะที่ความยาวที่เหลือมาจากหนวดของมันล้วนๆ
คุณ Deborah บอกว่าหมึกบิ๊กฟินที่ถูกพบในคราวนี้ถือว่าเป็นหมึกที่ตัวค่อนข้างเล็ก เพราะตามปกติหมึกสายพันธุ์นี้ จะสามารถมีความยาวได้มากถึง 7 เมตรเลย
แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ในการค้นพบครั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ก็ยังพบด้วยว่า หมึกตัวหนึ่งมีการยกหนวดยาวๆ ของมันเหนือร่างกายเป็นเวลานานด้วย ซึ่งเป็นพฤติกรรมชวนงงที่ไม่ปรากฏมาก่อนในหมึกทั่วๆไปเลย
“เรายังคงมีอะไรให้เรียนรู้มากมายเกี่ยวกับหมึกบิ๊กฟินเหล่านี้” คุณ Deborah ระบุ
“เราคำถามพื้นฐานเกี่ยวกับพวกมันมากมายที่ยังไม่อาจทราบแน่ชัดได้ ตั้งแต่ พวกมันกินอะไรเป็นอาหาร พวกมันขยายพันธุ์อย่างไร และคำถามอื่นๆ อีกมาก”
“แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจของงานวิจัยของพวกเรา ก็คือเราพบพวกมันพร้อมกันถึง 5 ตัวในที่ใกล้ๆ กัน ซึ่งเป็นอะไรที่เราไม่เคยพบมาก่อนเลย”
และแม้ว่าเราจะยังไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่าการที่หมึกบิ๊กฟินจำนวนมากมาอยู่ในที่เดียวกันเช่นนี้ เป็นเพราะอะไร พวกมันมาผสมพันธุ์กันใช่หรือไม่
แต่ทีมวิจัยก็เชื่อว่าหมึกชนิดนี้ แท้จริงแล้วอาจจะมีอยู่ในทะเลมากกว่าที่เราเคยคิดไว้ก็เป็นได้
ที่มา livescience, plos
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น