นาย Muhadjir Effendy รัฐมนตรีประสานกระทรวงพัฒนามนุษย์และวัฒนธรรมอินโดนีเซีย ได้แนะนำให้ประชาชนในประเทศร่วมกันลดปัญหาอัตราความยากจนในประเทศ
ด้วยการให้คนรวยควรแต่งงานกับบุคคลที่มาจากครอบครัวรายได้ต่ำ เชื่อว่าการแต่งงานเช่นนี้จะช่วยลดอัตราความยากจนในประเทศได้
Muhadjir กล่าวถึงศาสนาอิสลามในอินโดนีเซียซึ่งถือว่ามีประชากรชาวมุสลิมสูงที่สุดในโลก พร้อมกับคำสอน ‘มองหาคู่ที่เทียบเท่ากัน’ ถูกนำไปตีความแบบผิดๆ
“จะเกิดอะไรขึ้นหากคนจนเลือกแต่งงานกับคนจนด้วยกัน นั่นก็จะทำให้ครัวเรือนยากจนเพิ่มขึ้น นี่เป็นปัญหาในอินโดนีเซีย” นาย Muhadjir เกริ่นในงานประชุมสาธารณสุขแห่งชาติในกรุงจาการ์ตาเมื่อวันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ 2020
เขาสรุปจากข้อมูลของรัฐบาลที่รวบรวมโดยอดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรม ที่กล่าวว่าจำนวนครัวเรือนยากจนในหมู่เกาะของอินโดนีเซียมีจำนวนมากถึง 5 ล้านครัวเรือน
“จำนวนครัวเรือนในอินโดนีเซียทั้งหมด 57.1 ล้านครัวเรือน ในจำนวน 9.4% หรือ 5 ล้านถูกจัดอยู่ในกลุ่มยากจน ถ้ารวมจำนวนครัวเรือนที่เกือบยากจน จะเป็นจำนวน 16.8% หรือ 15 ล้านครัวเรือน”
เขามองว่าความยากจนที่เพิ่มขึ้นมาพร้อมกับปัญหาทางด้านสุขภาพ เพราะฉะนั้นแล้วเพื่อให้ปัญหาความยากจนลดลง การแต่งงานข้ามชนชั้นจึงเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสม
Muhadjir แนะนำให้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศาสนา Fachrul Razi บรรจุลงในฟัตวา (ศาสนบัญญัติ) บังคับให้คนจนมองหาคู่ครองที่เป็นคนรวย และคนรวยเองก็ควรมองหาคู่ครองที่เป็นคนจน
โดยที่เขายกตัวอย่างในประเทศที่ดำเนินการได้ผลมาแล้วด้วยแนวคิดนี้อย่าง เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ ซึ่งหากนำมาใช้กับครอบครัวยากจนในอินโดนีเซียก็คงได้ผลเช่นกัน
“เป้าหมายคือหลังจากการแต่งงาน คู่ที่แต่งงานกันระหว่างคนจนกับคนรวย จะช่วยกันผลักดันครัวเรือนที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้”
อย่างไรก็ตาม การจะบัญญัติคำชี้ขาดทางศาสนาในฟัตวาไม่ได้เป็นหน้าที่ของกระทรวงศาสนา แต่จะเป็นหน้าที่บัญญัติขององค์กรศาสนาโดยตรง จะมีคณะกรรมการทางศาสนาและผู้เชี่ยวชาญคอยศึกษา วินิจฉัยและบัญญัติข้อบังคับขึ้นมา
ที่มา: tempo, thejakartapost, straitstimes, channelnewsasia, ibtimes
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น