CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

นักวิทย์ประสบความสำเร็จ สร้างหุ่นแมลงจิ๋ว ทำงานได้ด้วย “พลังแอลกอฮอล์” หนักไม่ถึง 1 กรัม

หุ่นยนต์ในปัจจุบัน โดยมากแล้วมักจะใช้พลังงานจากแบตเตอรี่หรือไม่ก็สายไฟโดยตรง ส่งผลให้พวกมันมักจะมีข้อจำกัดด้านขนาด ที่ต้องเหลือที่ไว้ให้ใส่แบตเตอรี่ได้

ปัญหาในจุดนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่คาใจของทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนียเป็นอย่างมากทำให้พวกเขาจึงทำการทดลองหุ่นยนต์ที่ขับเคลื่อนได้ด้วยพลังงานอื่นๆ เรื่อยมา

และคำตอบที่เขาได้จากการทดลองนี้ ก็คือหุ่นยนต์รูปร่างแมลงตัวน้อยน้ำหนักเพียงไม่ถึงกรัม ที่สามารถเคลื่อนไหวได้ โดยอาศัยพลังงานจากแอลกอฮอล์ล้วนๆ

 

 

เจ้าหุ่นที่เพื่อนๆ กำลังเห็นอยู่นี้มีชื่อว่า “RoBeetle” หุ่นยนต์รูปแมลงที่อาศัยแอลกอฮอล์ประเภท เมทานอล (ซึ่งบ้านเรามักนำไปผสมกับน้ำมันหรือก๊าซปิโตรเลียม) เป็นเชื้อเพลิง

โดยมันจะสามารถขยับได้ด้วยการให้สายโลหะผสมไททาเนียมหุ้มด้วยผงทองคำขาวบนหลังเร่งการเผาผลาญจากการระเหยของแอลกอฮอล์ ซึ่งทำให้เกิดความร้อนขึ้นและดึงขาหุ่นเข้าหาตัวเพื่อเดินไปข้างหน้าอีกที

อ้างอิงจากนักวิทยาศาสตร์ เจ้าหุ่นยนต์ตัวนี้ถูกสร้างขึ้นโดย อาศัยความจริงที่ว่าหากเทียบกันในปริมาณน้อยๆ เมทานอลจะสามารถเก็บพลังงานได้มากกว่าแบตเตอรี่ในขนาดเท่ากัน ให้เป็นประโยชน์

ซึ่งในกรณีของเจ้าหุ่น RoBeetle มันจะมีน้ำหนักแค่ราวๆ 88 มิลิกรัม แต่กลับสามารถเคลื่อนที่ขึ้นลงเนินชัน และพื้นผิวอย่างกระจกได้ แถมยังสามารถแบกน้ำหนักได้ถึง 2.6 เท่าของน้ำหนักตัวมันเองด้วย

 

 

ซึ่งหากเราเอาน้ำหนักดังกล่าวไปใส่เชื้อเพลิงเสริม หุ่นตัวนี้ก็จะสามารถทำงานต่อเนื่องได้ถึง 2 ชั่วโมงซึ่งถือว่าสูงมากสำหรับหุ่นที่มีขนาดเล็กขนาดนี้

“เราสามารถทำให้มันเบาและเล็กลงได้ขนาดนี้ เพราะเราไม่ต้องพึ่งพาแบตเตอรี่” คุณ Nestor Perez-Arancibia หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว

และแม้ว่าในปัจจุบันหุ่นยนต์ตัวนี้จะยังทำอะไรไม่ได้มากนอกจากการเดินไปข้างหน้าก็ตาม แต่ทีมนักวิทยาศาสตร์เองก็กำลังวางแผนต่อไปอยู่ว่าจะติดตั้งกล้อง ระบบควบคุมการเคลื่อนไหว ปีก

หรือไม่ก็ดัดแปลงระบบพลังงานของหุ่นตัวนี้ให้ใช้งานได้นานขึ้นไปอีกหากเป็นไปได้

 

วิดีโออธิบายการทำงานของ RoBeetle

 

และถ้าการทดลองทุกอย่างเป็นไปได้ดีไม่มีปัญหาอะไร มันก็ไม่แน่เหมือนกันว่าเจ้าหุ่นจิ๋วตัวนี้ อาจจะกลายเป็นหุ่นสำรวจตัวที่มีบทบาทสำหรับในโลกวิทยาศาสตร์ต่อไปได้เลย

 

ที่มา sciencemag, futurism และ newscientist


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น