ย้อนกลับไปในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ทีมนักโบราณคดีได้ทำการค้นพบม้วนหนังสือเดดซีจำนวนมากภายในถ้ำที่ทะเลทรายยูดา โดยหนึ่งในบรรดาม้วนหนังสือเหล่านั้นยังมีม้วนหนังสืออยู่ชิ้นหนึ่งซึ่งมีความยาวมากกว่า ม้วนหนังสือเดดซีอื่นๆ ที่ถูกพบในเวลาเดียวกันมาก ด้วยความยาวมากถึง 8 เมตร
ม้วนหนังสือชิ้นนั้นเป็นที่รู้จักกันในนามว่า “Temple Scroll” ม้วนหนังสือเดดซีอายุร่วม 2,000 ปี ที่บันทึกเรื่องราวของศาสนาตั้งแต่บทวิวรณ์ของพระเจ้าไปจนถึงเรื่องราวของโมเสสเอาไว้ ซึ่งทำให้ม้วนหนังสือชิ้นนี้นับว่าเป็นหนึ่งในม้วนหนังสือเดดซีที่มีความน่าสนใจที่สุดเลยก็ว่าได้
แต่ดูเหมือนว่าในปัจจุบัน ความยาวและเนื้อหาของ Temple Scroll จะไม่ใช่เรื่องเดียวที่ทำให้ม้วนหนังสืออันนี้โด่งดังอีกต่อไปแล้ว นั่นเพราะเมื่อล่าสุดนี้เองนักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองตรวจสอบทางเคมีกับม้วนหนังสือนี้และพบว่า
Temple Scroll การใช้กระดาษที่มีร่องรอยการถูกฉาบด้วยเกลืออีกชั้นหนึ่งด้วย
นี่เป็นการทดลองที่เกิดขึ้นภายใต้การตรวจสอบม้วนหนังสือเดดซีของทาง MIT ซึ่งมีการอาศัยเทคนิคเอกซ์เรย์และ เทคนิครามานสเปกโทรสโคปี (Raman Spectroscopy) ซึ่งเกี่ยวกับการหาการกระเจิงแสงของสารต่างๆ และพบกับชั้น “เกลือซัลเฟต” บางๆ ฉาบด้านที่มีตัวหนังสือของ Temple Scroll เอาไว้
นักวิทยาศาสตร์ก็ตั้งข้อสันนิษฐานว่า การฉาบเกลือบนหนังสือนี้น่าจะเป็นหนึ่งในกระบวนการดัดแปลงหน้ากระดาษให้คงทนขึ้นของคนในสมัยก่อน โดยจะเป็นการฉาบมาตั้งแต่ในขั้นตอนการผลิต และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Temple Scroll มีด้านตัวหนังสือที่สว่างกว่าอีกด้านมาก
นี่นับว่าเป็นกระบวนการที่น่าสนใจในการทำม้วนหนังสือเดดซีสำหรับนักวิทยาศาสตร์เลยทีเดียว นั่นเพราะกระบวนการนี้ อาจจะไม่ได้ถูกพบแค่ใน Temple Scroll เท่านั้น เนื่องจากในม้วนหนังสือเดดซีชิ้นอื่นบางส่วนเอง ก็มีร่องรอยของเกลือในรูปแบบคล้ายๆ กันเช่นกัน
ดังนั้นในกรณีที่ร่องรอยเกลือเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากความบังเอิญจริงๆ นักวิทยาศาสตร์ก็เชื่อว่าการฉาบเกลืออาจจะถูกนำไปใช้เพื่อตัดสินว่าม้วนหนังสือเดดซีอันไหนเป็นของจริงต่อไปในอนาคตก็เป็นได้
ที่มา sciencenews, livescience, theguardian
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น