CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

นักวิทย์สร้างแม่เหล็กถาวรที่เป็น “ของเหลว” ได้สำเร็จ หลังความบังเอิญในการทดลอง

เมื่อเราจินตนาการถึงแม่เหล็ก คนส่วนมากก็คงจะนึกถึงแม่เหล็กที่เป็นแท่งๆ มาก่อนเป็นอย่างแรก แต่เพื่อนๆ ทราบกันหรือไม่ว่าเมื่อล่าสุดนี้เองทีมนักวิทยาศาสตร์เขาสามารถสร้าง “ของเหลว” รูปแบบใหม่ที่สามารถคงสถานะเป็นแม่เหล็กแบบถาวรกันได้แล้ว แถมยังเกิดขึ้นจากความบังเอิญล้วนๆ ด้วย

 

 

การสร้างของเหลวที่เป็นแม่เหล็กแบบถาวรนั้น เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนและอเมริกัน ภายในห้องปฏิบัติการแห่งชาติที่เบิร์กลีย์ ซึ่งในเวลานั้นพวกเขากำลังทดลองกับของเหลวที่ใช้ในระบบเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพื่อเป้าหมายในการสร้างวัสดุที่เป็นของแข็งแต่ก็มีลักษณะของของเหลวในเวลาเดียวกัน

โดยในระหว่างการทดลองนั้นเองคุณ Xubo Liu หนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์ได้พบว่าวัสดุสำหรับเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งพวกเขาทำขึ้นมาจากอนุภาคแม่เหล็กที่เรียกว่า “ไอเอิร์น-ออกไซด์” นั้นมีความสามารถหมุนอย่างพร้อมเพรียงได้บนแผ่นแม่เหล็ก ซึ่งเป็นลักษณะที่บ่งบอกว่าวัสดุตัวนี้ได้กลายเป็นแม่เหล็กไปแล้ว

 

 

ที่สำคัญคือ แม่เหล็กที่ออกมานี้นับว่าเป็นอะไรที่ต่างจากแม่เหล็กเหลวหรือ “Ferrofluid” ที่เคยมีการค้นพบก่อนหน้านี้มากพอสมควร เพราะ Ferrofluid นั้นจะคงสภาพเป็นแม่เหล็กได้เมื่ออยู่ต่อหน้าแม่เหล็กอื่นๆ เท่านั้น ในขณะที่แม่เหล็กตัวใหม่นี้จะสามารถคงความเป็นแม่เหล็กได้ แม้อยู่ห่างจากแม่เหล็กอื่นๆ เป็นเวลานาน

 

การทำงานของ Ferrofluid จะสังเกตว่าแม่เหล็กเหลวตัวนี้จะต้องทำกิริยากับแม่เหล็กอื่นๆ จึงจะคงความเป็นแม่เหล็กได้

 

นี่ไม่เพียงแต่จะเป็นการค้นพบแม่เหล็กที่มีสภาพเป็นของเหลวเป็นครั้งแรกเท่านั้น แต่มันยังอาจจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้มากมายกว่าที่คิดอีกด้วย (อย่างการเอาไปใช้ในเครื่องพิมพ์ หรือปากกา 3 มิติ) และไม่แน่ว่ามันอาจจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ต้องอาศัยแม่เหล็กรูปร่างแปลกๆ ก็เป็นได้

 

วิดีโอความสามารถเต็มๆ ของแม่เหล็กตัวนี้จาก Berkeley Lab

 

ที่มา livescience, futurism และ interestingengineering


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น