มันเป็นเรื่องที่หลายๆ คนอาจจะทราบกันอยู่แล้ว ว่าเช่นเดียวกับสัตว์หลายๆ ชนิดในโลก มนุษย์เราก็มี “ความต้องการทางเพศ” เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ใช้ขับเคลื่อนชีวิต
ดังนั้นนี่อาจจะเป็นข่าวที่ค่อนข้างสำคัญอีกข่าวหนึ่งเลยก็ได้ เมื่อล่าสุดนี้ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์นได้ออกมาเปิดเผยว่า
พวกเขาค้นพบยีนที่ควบคุมความใคร่ของผู้ชายแล้ว ซึ่งอาจนำไปสู่การรักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพ หรือสภาวะมีความต้องการมากเกินไปได้ในอนาคตเลย
ในงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Endocrinology นักวิจัยได้อธิบายว่า กุญแจสำคัญของการตามหายีนควบคุมความใคร่ของผู้ชาย อยู่ที่การเปลี่ยนฮอร์โมนเพศชาย (testosterone) ที่เป็นเอสโตรเจนในสมอง
กระบวนการนี้ได้ถูกพบว่าเกิดขึ้นจากเอนไซม์ที่เรียกว่าอะโรมาเทส (aromatase) ซึ่งผลิตขึ้นจากยีนชื่อ “Cyp19a1” และแสดงผลได้ทั้งในสมองและอัณฑะอีกที
เพื่อที่จะยืนยันทฤษฎีที่พวกเขาพบนักวิทยาศาสตร์จึงได้ทดลองตัดต่อยีน Cyp19a1 ในหนู 2 ตัว
โดยหนูตัวหนึ่งจะไม่มีเอนไซม์อะโรมาเทสทั้งในสมองและอัณฑะ ในขณะที่หนูอีกตัวจะถูกทำให้เอนไซม์อะโรมาเทสแสดงผลแค่ในอัณฑะ
ตามความเชื่อที่ว่าการควบคุมความใคร่ของผู้ชายอยู่ที่อัณฑะ เนื่องจากตามปกติสัตว์ที่ถูกตัดอัณฑะมักจะไม่แสดงกิจกรรมทางเพศมากนัก
เมื่อนำหนูทั้งสองไปอยู่รวมกับตัวตัวเมีย พวกเขาก็พบว่า หนูตัวที่ไม่มีอะโรมาเทสเลยทั้งในสมองและอัณฑะจะไม่แสดงกิจกรรมทางเพศใดๆ เลย ซึ่งยืนยันว่าอะโรมาเทสมีความสำคัญในการควบคุมความใคร่ของผู้ชายจริงๆ
ในขณะที่หนูตัวไม่มีอะโรมาเทสแค่ที่สมองก็แสดงกิจกรรมทางเพศลดลงกว่าหนูปกติเกือบๆ ครึ่งหนึ่งได้
ซึ่งก็ถือว่าน่าสนใจเหมือนกัน เพราะการลดลงนี้หมายความว่าอะโรมาเทสในสมองเองก็มีส่วนในในการควบคุมความใคร่ ไม่ใช่แค่ที่อัณฑะอย่างที่เราเคยเชื่อ
“เป็นครั้งแรกที่เราสามารถแสดงให้เห็นได้ว่า เปลี่ยนฮอร์โมนเพศชายเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจนในสมองมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษากิจกรรมทางเพศ หรือความใคร่ของผู้ชาย”
คุณ Serdar Bulun ผู้เขียนหลักของงานวิจัยกล่าว
“และอะโรมาเทสก็เป็นสิ่งที่จะคอยขับเคลื่อนกลไกเหล่านี้”
นี่นับว่าเป็นผลการวิจัยที่น่าสนใจมาก เพราะมันไม่เพียงแต่จะนำไปสู่การรักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพ หรือสภาวะมีความต้องการมากเกินไปอย่างที่กล่าวมาข้างต้นเท่านั้น
แต่การรักษาอาการดังกล่าวโดยปรับแต่งอะโรมาเทสในสมองเท่านั้น ยังอาจทำให้การรักษาดังกล่าว มีผลข้างเคียงน้อยอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเลยด้วย
ที่มา iflscience และ oup
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น