ด้วยชื่อเสียงและงานวิจัยจำนวนมากที่ออกมา คงจะมีหลายคนไม่น้อยที่เคยได้ยินเรื่องราวของ “หมีน้ำ” (Tardigrades) กันมาเป็นอย่างดี
เพราะเจ้าหมีน้ำตัวนี้ไม่เพียงแต่จะตัวเล็กแลดูน่ารักแบบแปลกๆ เท่านั้น แต่มันยังทนทานต่อสภาพแวดล้อมสูง จนถึงขนาดที่มีชีวิตรอดได้แม้ในอุณหภูมิต่ำสุดขีดอย่างดวงจันทร์ได้
แต่พักเรื่องหมีน้ำเอาไว้ก่อนเพราะมีคู่แข่งตัวใหม่มาอีกตัว ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ทำการค้นพบสัตว์ขนาดเล็กชนิดใหม่ที่มีหน้าตาคล้ายกับหมีน้ำอย่างไม่น่าเชื่อ
นี่คือ “หมูรา” (Mold pig) สิ่งมีชีวิตขนาดราวๆ 100 ไมโครเมตร (0.1 มิลลิเมตร) ซึ่งเคยมีชีวิตอยู่บนโลกในช่วงกลางยุคเทอร์เชียรี หรือเมื่อราวๆ 30 ล้านปีก่อน
หมูรานั้น ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกโดยคุณ George Poinar Jr. นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอเรกอน หลังจากที่เข้าพยายามทำการตรวจสอบสิ่งมีชีวิตและพันธุ์ไม้โบราณภายในอำพันที่ถูกเก็บไว้ในมหาวิทยาลัย
หมูราได้ชื่อมาจากการที่มันกินเชื้อราเป็นอาหารหลัก โดยในทางวิทยาศาสตร์แล้วมันมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “Sialomorpha dominicana” ซึ่งมาจากคำว่า “Sialos” และ “Morpha” ภาษากรีกที่แปลว่า “อ้วน” และ “รูปร่าง” กับคำว่า Dominican ที่มาจากอำพันโดมินิกัน
แต่แม้ว่าหมูราจะมีลักษณะที่คล้ายหมีน้ำมากก็ตาม สัตว์ชนิดนี้กลับมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่เลยมากกว่า
“หมูรา ไม่สามารถถูกจัดวางในกลุ่มของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังใดๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน จริงอยู่ว่ามันมีลักษณะคล้ายหมีน้ำหรือตัวไร แต่มันกลับไม่ใช่สัตว์ทั้งสองสายพันธุ์นี้เลย”
จากรายงานการค้นพบ หมูรานั้นมีลักษณะเด่นๆ จากหัวที่ขยับได้อย่างอิสระ และขาทั้งสี่ที่ไร้กรงเล็บ โดยพวกมันอาศัยการลอกคราบในการเติบโต ในรูปแบบเดียวกับที่แมลงหลายๆ ชนิดทำกับกระดูกภายนอกของตัวเอง
อ้างอิงจากสภาพแวดล้อมอื่นๆ ในอำพัน นักบรรพชีวินก็พบว่ามันมีความเป็นไปได้สูงที่หมูราจะอาศัยอยู่ในที่ที่มีอากาศอบอุ่นและชื้น ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อย่าง ไส้เดือนฝอย โปรโตซัว และเชื้อรา
โดยนอกจากเชื้อราแล้วดูเหมือนว่าหมูราตัวนี้จะมีการกินสิ่งมีชีวิตที่ตัวเล็กกว่าด้วย แม้ว่าการที่มันไม่มีเล็บจะทำให้มันไม่ใช่นักล่าตัวยงก็ตาม
และก็แน่นอนว่าด้วยลักษณะเช่นนี้เอง เราจึงพูดได้ยากว่าหมูราเป็นสัตว์ที่ทนทานแบบเดียวกับหมีน้ำ และการจะบอกว่าสัตว์ชนิดนี้เป็นบรรพบุรุษของตัวอะไร ก็ยังคงต้องมีการสอบกันต่อไป
ที่มา cnn, dailymail, livescience
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น