ในช่วงเวลาที่น้ำแข็งขั้วโลกกำลังละลายไปในอัตราที่น่ากังวลเช่นนี้ นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยจำนวนมากก็ได้เริ่มเดินทางไปยังทวีปแอนตาร์กติกากันเพื่อศึกษาผลกระทบของน้ำแข็งที่หายไป
และในบรรดาเหล่าผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเหล่านี้ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญจาก คณะวิจัยธารน้ำแข็งทเวทส์ (Thwaites Glacier Offshore Research) หรือที่พวกเขาเรียกตัวเองว่า “THOR” (ชื่อนี้จริงๆ นะ) ก็ได้ทำการค้นพบเกาะแห่งใหม่ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งถูกเผยโฉมออกมา จากการละลายของธารน้ำแข็ง
อ้างอิงจากรายงานของทาง THOR พวกเขาพบเกาะแห่งใหม่นี้ ในระหว่างที่ทีมงานกำลังโดยสารเรือเจาะน้ำแข็ง RV Nathaniel B Palmer ซึ่งมีกำหนดการจะเดินทางจากสหรัฐอเมริกาไปยังอังกฤษ ภายใต้โครงการศึกษาการละลายของธารน้ำแข็งทเวทส์ หนึ่งในธารน้ำแข็งที่ได้ชื่อว่าไม่เสถียรที่สุดในแอนตาร์กติกา
เจ้าเกาะแห่งใหม่นี้ ถูกตั้งชื่อเล่นโดยทีมนักวิจัยว่า “Sif” อ้างอิงจากภรรยาของเทพธอร์ โดยมันตั้งอยู่ระหว่างธารน้ำแข็งทเวทส์ และเกาะไพน์ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันอีกที
“เกาะนี้ไม่มีแผนภูมิที่เรารู้จัก” คุณ Julia Smith Wellner นักธรณีวิทยาทางทะเลและธารน้ำแข็งจาก THOR กล่าว “หลังจากที่ได้ไปเป็นผู้เยี่ยมชมกลุ่มแรกของมัน เราก็สามารถยืนยันได้ว่าเกาะ Sif ประกอบขึ้นจากหินแกรนิต และถูกปกคลุมด้วยชั้นน้ำแข็งที่เหลืออยู่เล็กน้อย และกำลังเป็นที่อยู่ของแมวน้ำจำนวนหนึ่ง”
จากข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม นักวิทยาศาสตร์ก็ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เกาะ Sif ที่อยู่พบ มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของเกาะไพน์อีกที เพียงแค่ที่ผ่านๆ มามันซ่อนอยู่ใต้ธารน้ำแข็งก็เท่านั้น
แน่นอนว่าการค้นพบในครั้งนี้อาจจะดูไม่ใช่อะไรที่ยิ่งใหญ่หรือพูดได้เต็มปากว่าเป็นข่าวดีนัก แต่อย่างน้อยๆ การค้นพบเกาะในครั้งนี้ก็ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์มีโอกาสศึกษาข้อมูลทางธรณีวิทยาในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากธารน้ำแข็งที่หลอมละลายไป จะช่วยปล่อยแรงกดจากเปลือกโลก และอาจทำให้เปลือกโลกมีรูปร่างเปลี่ยนไปได้
และการศึกษาระบบธรณีวิทยาบนเกาะดังกล่าว ก็จะสามารถทำให้เราเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่ว่าได้อย่างลึกซึ้งขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนเลย
ที่มา iflscience และ nature
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น