เชื่อว่าเพื่อนๆ หลายคนอาจจะได้เห็นภาพ ‘สไลด์ IO’ กันมาบ้างแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังถูกแชร์ต่อๆ กันไปเรื่อยๆ ในโซเชียล ณ ตอนนี้
สิ่งนั้นก็คือสไลด์ PowerPoint ที่มีคนระบุว่ามันคือสไลด์การฝึกสอนของกองทัพ เพื่อให้ทหารได้ฝึกการโจมตีบนโลกโซเชียล โดยมีแพลตฟอร์มหลักๆ คือทวิตเตอร์
ตัวอย่าง สไลด์ IO
.
.
ดูภาพสไลด์ทั้งหมดได้จากโพสต์นี้ (28 พฤศจิกายน 2563)
และก่อนหน้านี้ก็ยังมีข่าวที่ว่า: โปรแกรมเมอร์ไทยตามแกะรอยไอโอ หาตำแหน่งตั้งเซิร์ฟเวอร์ เชื่อมโยงบริษัทเอกชนเอี่ยวรัฐ
หลังจากที่ผู้คนเริ่มพูดถึงภาพสไลด์ดังกล่าวกันเป็นจำนวนมาก มองว่าทหารคือเบื้องหลังการโจมตีบนโลกออนไลน์ ล่าสุดทางเพจ Army Spoke Team – ทีมโฆษกกองทัพบก ก็ได้ออกมาบอกแล้วว่า “สไลด์ที่เห็นคือของจริง”
ทางเพจได้ชี้แจงว่าภาพสไลด์ทั้งหมดที่หลุดไปนั้นคือของจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางกองทัพบกมีไว้เพื่อการฝึกฝนงานสื่อสารออนไลน์ รวมถึงการสร้างความเข้าใจในการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม…
“อย่างไรก็ตามในยุคสื่อสังคมออนไลน์ ทหาร/กองทัพเองก็ต้องมีการเรียนรู้พัฒนาเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มต่างๆ ให้ทันกับสภาพสังคม โดยมีการจัดอบรมบรรยายและให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าวกับกำลังพลในทุกระดับให้มีความเข้าใจในการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม”
“สำหรับภาพและข้อมูลในสื่อโซเชียลที่ปรากฎนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการอบรมกำลังพลของหน่วย(พล.ร.2รอ.)ในการใช้แอพพลิเคชั่นทวิตเตอร์ สนับสนุนงาน ประชาสัมพันธ์ของหน่วยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”
พวกเขาบอกด้วยว่าแอปพลิเคชั่นที่ใช้ก็เป็นของฟรี ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ…
“โดยเรามีกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนที่มีทักษะความรู้ด้านการตลาดดิจิทัลและในการใช้สื่อออนไลน์ที่ทันสมัย มาเป็นผู้ให้คำแนะนำการใช้งาน โดยไม่มีการว่าจ้าง ทั้งนี้ ซอฟต์แวร์ที่นำมาใช้กระจายข้อมูลเชิงบวกก็เป็น “ฟรีซอฟต์แวร์” ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เช่น Tweet Broadcast และ Free Messenger เป็นต้น”
ผังโครงสร้างในสไลด์ที่เห็นกันก็เป็นเพียงการจัดหน่วยประชาสัมพันธ์ของกองทัพ และทางกองทัพเองก็มีการลงทะเบียนใช้งานอย่างเปิดเผย ระบุตัวตนได้ เน้นประชาสัมพันธ์เนื้อหาเชิงบวก แก้ไขข้อมูลเท็จ…
“สำหรับผังโครงสร้างที่ปรากฎก็เป็นการจัดหน่วยประชาสัมพันธ์ เพื่อทดลองกระจายข้อมูลเชิงบวกให้กับบัญชีทวิตเตอร์ด้วยแอพพลิเคชั่นดังกล่าว และมีการลงทะเบียนใช้งานอย่างเปิดเผย ระบุตัวตนได้”
“ส่วนเนื้อหาที่นำลงก็เป็นการประชาสัมพันธ์เชิงบวก กิจกรรมเทิดทูนสถาบัน การสร้างภาพลักษณ์ ภารกิจกองทัพบกและการช่วยเหลือประชาชน
“ในขณะเดียวกันหากมีผู้ไม่หวังดีนำข้อมูลที่ไม่ถูกต้องบิดเบือน หรือข่าวเท็จ (ข้อมูลที่เป็นสีเทาหรือสีดำ) ที่ส่งผลกระทบต่อหน่วยงานก็จะมีการตรวจสอบและเร่งเผยแพร่ข้อเท็จจริงในสื่อสังคมออนไลน์อย่างทันท่วงที เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องปกติ โดยไม่ได้มีลักษณะที่บ่งบอกถึงการนำเอาแพลตฟอร์มดังกล่าวไปดำเนินการเพื่อให้เกิดความเสื่อมเสียแก่บุคคลหรือองค์กรใด หรือทำให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อสังคมโดยรวม”
พวกเขาเน้นย้ำว่าทั้ง 578 หน่วยที่จัดตั้งขึ้นมา มีขึ้นเพื่อการประชาสัมพันธ์ การสื่อสารกับประชาชน เพื่อสร้างการรับรู้ในข่าวสารด้านความมั่นคง งานช่วยเหลือประชาชน งานบรรเทาภัย ได้รวดเร็วและกว้างขวางยิ่งขึ้น…
“ข้อมูลที่ปรากฏเป็นข่าวก็เป็นข้อมูลที่ผู้หนึ่งผู้ใดสามารถ download ได้ สะท้อนให้เห็นว่าทางกองทัพและผู้พัฒนาโปรแกรม ไม่มีเจตนาปกปิด หรือกระทำสิ่งใดที่ผิดกฎหมาย จึงเป็นสิทธิที่กองทัพสามารถดำเนินการ แสดงออกและกระจายข้อมูลเชิงบวกเข้าสู่ระบบสังคมออนไลน์ได้ตามเจตนารมณ์”
สามารถอ่านคำชี้แจงเต็มๆ ได้ที่โพสต์นี้
เรียบเรียงโดย #เหมียวตะปู
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น