ตั้งแต่ก่อนที่ยุคโซเชียลเน็ตเวิร์กจะเป็นที่แพร่หลาย ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศเราก็เคยมีเรื่องเล่าที่ว่า
ในช่วงการแข่งกันไปอวกาศ นาซาเคยใช้เงินเป็นล้านทำปากกาที่ใช้ในอวกาศได้ในขณะที่โซเวียตแค่ใช้วิธีง่ายๆ อย่างการเปลี่ยนไปใช้ดินสอเพื่อแก้ปัญหานี้
นี่อาจจะเป็นเรื่องที่ดูจะแฝงแนวคิดที่ดี แต่ถ้าเราลองหาข้อมูลดูเราจะพบว่าเรื่องเล่านี้ แม้จะมีมูลความจริงอยู่บ้างแต่โดยมากก็ล้วนแต่จะเป็นเรื่องที่ถูกแต่งเติมขึ้นมาทั้งนั้น ดังนั้นในวันนี้เราจะไปหาความจริงไปพร้อมๆ กันครับ
ความจริงของเรื่องเล่าในอดีต
เรามาเริ่มกันจากเรื่องที่เป็นความจริงของเรื่องเล่านี้กันก่อน นั่นคือด้วยสภาพไร้แรงดึงดูดและปัจจัยอื่นๆ ปากกาทั่วไปจะไม่สามารถทำงานได้ในอวกาศจริงๆ และทางโซเวียตเองก็มีการใช้ดินสอแทนเพื่อแก้ปัญหานี้จริงๆ
เพียงแต่ในอดีตนั้น ไม่ได้มีเพียงแค่โซเวียตเท่านั้นที่เลือกใช้ดินสอแทนปากกาบนอวกาศ เพราะนาซาเองในช่วงเวลาใกล้เคียงกันก็มีการใช้ดินสอแทนปากกาบนอวกาศไม่ต่างกันนัก
อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไปสักพักทั้งสหรัฐฯ และโซเวียตก็เริ่มรู้ตัวว่าการใช้ดินสอในภาวะสุญญากาศมันเป็นอะไรที่ไม่ค่อยปลอดภัยนัก
เนื่องจากเศษของดินสอที่เป็นคาร์บอยอาจจะแตกหักและปลิวไปในเครื่องมือต่างๆ จนติดไฟหรือทำให้เกิดการลัดวงจรได้
และในความเป็นจริงแล้วอุปกรณ์ที่ทางนาซาเคยลงทุนด้วยในตอนแรก ก็เป็นดินสอเพื่อให้บนอวกาศโดยเฉพาะ ซึ่งมีราคาแพงมากๆ (ในปี 1965 นาซาลงทุนไปราวๆ 1 ล้านบาท ได้ดินสอมา 34 แท่ง) ไม่ใช่ปากกาด้วย
ถ้าอย่างนั้นปากกาอวกาศมาจากไหน?
ความแพงของดินสอในเวลานั้น แน่นอนว่าได้ผลตอบรับที่ไม่ดีจากทั้งนาซาและสาธารณชน ดังนั้นสหรัฐอเมริกา (และโซเวียต) จึงต้องหาหนทางอื่นที่มีราคาถูกกว่านี้
นับเป็นโชคดีของพวกเขามาก ที่ในช่วงเวลาเดียวกับที่นาซากำลังทดลองดินสอ ชายชื่อ Paul C. Fisher เจ้าของบริษัท Fisher Pen Company ก็กำลังควักเงินตัวเองร่วมสิบล้านบาททดลองปากกาแรงดันสูงรุ่นใหม่อยู่พอดี
โดยปากกาของเขาอาศัยไนโตรเจนแรงดัน ขับดันหมึกแบบพิเศษที่มีลักษณะคล้ายเจลออกมาทางปลายปากกา ซึ่งทำให้มันสามารถเขียนได้แม้ ตีลังกาเขียน หรืออยู่ใต้น้ำ แถมยังทนอุณหภูมิได้ตั้งแต่ -45 ถึง 204 องศาเซลเซียส
ซึ่งก็แน่นอนว่าปากกานี้ย่อมทำงานได้แม้แต่ในอวกาศ
คุณ Paul C. Fisher ตัดสินใจจดทะเบียนผลงานของเขาในช่วงปี 1965 ก่อนที่ต่อมาเขาจะนำปากการุ่น AG-7 ไปนำเสนอต่อนาซาโดยตรง และได้รับผลตอบรับที่ดีเป็นอย่างมาก
พวกเขาสั่งซื้อปากกาจากคุณ Paul ที่เดียวถึง 400 ชิ้น โดยขอลดราคาสินค้าเหลือแท่งล่ะราวๆ 75 บาท (ลดจากราคาตลาดราวๆ 40% ได้)
อย่างไรก็ตามคุณ Paul ก็เต็มใจที่จะขายมันเนื่องจากการขายสินค้าให้นาซาถือเป็นการโฆษณาที่ดีไปในตัว แถมต่อมาในปี 1969 เขาก็มีโอกาสขายปากกาคล้ายๆ กันให้กับโซเวียตด้วย
เรื่องราวหลังจากนั้น
นับตั้งแต่วันนั้นมาทั้งสหรัฐอเมริกาและโซเวียตก็ล้วนแต่จะใช้ปากกาในระหว่างการทำภารกิจบนอวกาศ
ในขณะที่คุณ Paul C. Fisher เองก็ใช้เงินที่ได้มาเปลี่ยนบริษัทตัวเองจาก Fisher Pen Company ไปเป็น Fisher Space Pen Company โดยเขายังคงขายปากกาอวกาศต่อไปเรื่อยมาจนกระทั่งในปัจจุบัน
โดยปากกา AG-7 ของเขาในปัจจุบันมีราคาตั้งต้นอยู่ที่ราวๆ 1,500 บาท เนื่องจากมีเป้าหมายการค้าในฐานะปากกาสะสมมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามปากกา Space Pen หลายรุ่นก็ยังคงมีราคาถูกกว่านี้
และแม้ว่าเวลาจะผ่านล่วงเลยไปหลายสิบปีแล้วก็ตาม แต่ปากกาของ Fisher Space Pen ก็ยังคงถูกใช้งานโดย หน่วยกู้ภัย นักสกี และกลุ่มคนอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากเช่นเดิม
และจากความทนทานอันเป็นเอกลักษณ์นี้ มันก็คงจะไม่แปลกเช่นกันที่ปากกานี้จะยังคงอยู่ไปอีกนานเลย
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น