ตลอดชีวิตของ “ซุนเหยาถิง” มีความทรงจำเพียง 2 เรื่องเท่านั้นที่ทำให้เขาต้องหลั่งน้ำตา
ครั้งแรกในวันที่เข้ารับการ “ผ่าตัด” เพื่อกลายเป็นขันทีโดยสมบูรณ์ และอีกครั้งในวันที่อดีตกล่องดวงใจนั้นถูกเผาจนไม่เหลือซาก
นานหลายศตวรรษที่ประวัติศาสตร์จีนได้กล่าวถึง “ขันที” ชายเพียงคนเดียวที่สามารถเข้าออกพระราชวังได้ถึงห้องส่วนพระองค์ของจักพรรดิ อำนาจล้นมือที่ทำให้คนธรรมดากลายเป็นนักการเมืองที่ร่ำรวยและทรงอิทธิพล แม้ต้องแลกมาด้วยการละทิ้งความเป็นชายและการสืบสกุลไปชั่วชีวิต
นี่คือเรื่องราวของ “ขันทีคนสุดท้ายในประวัติศาสตร์จีน” ผู้เริ่มต้นด้วยความทุกข์ยากในวัยเยาว์ ก่อนเข้าสู่วังหลวงในฐานะขันที และจบลงด้วยบทบาทสุดท้าย “ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของอดีตองค์จักรพรรดิ”
ซุนเหยาถิงเกิดเมื่อวันที่ 29 กันยายน ปี 1902 ครอบครัวของเขาเป็นเพียงชาวนาที่ยากจนในเมืองเทียนจินที่ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อประคับประคองชีวิต
วัยเด็กของซุนเหยาถิงสิ้นสุดลงด้วยวัยเพียง 8 ขวบ หลังพ่อที่สิ้นหวังจากการถูกกลั่นแกล้ง ขโมยที่นา และการเผาบ้าน ตัดสินใจส่งลูกชายเข้าวังในฐานะขันที
บนเตียงในบ้านที่สร้างกำแพงจากโคลนดินนั้นเอง ซุนเหยาถิงถูกตัดตอนความเป็นชายโดยไร้ยาชาด้วยฝีมือของผู้เป็นพ่อ มีเพียงกระดาษซับน้ำมันและผ้าพันแผลคอยช่วยรักษา ทันทีที่เสร็จสิ้นการผ่าตัดเขาถูกสอดปากกาขนห่านเข้าไปในท่อปัสสาวะเพื่อป้องกันการอุดตันในภายหลังจากแผลหายดี
เด็กชายหมดสติไปนานถึง 3 วันเต็มก่อนจะแทบขยับไม่ได้ไปอีก 2 เดือน และในที่สุดหลังจากที่แผลเริ่มหายก็ถึงเวลาที่ซุนเหยาถิงจะได้เข้าวัง
อย่างไรก็ตาม โชคชะตาช่างเล่นตลก เมื่อจักรพรรดิที่เขาหวังจะถวายตัวได้สละราชสมบัติหลายสัปดาห์ก่อนที่เขาจะฟื้นตัว ทำให้ขันทีน้อยได้กลายมาเป็นผู้ดูแลของจักรพรรดินีในสมเด็จพระจักรพรรดิปูยี ฮ่องเต้องค์สุดท้ายของราชวงค์ชิง
ชีวิตที่กำลังจะไปด้วยดีในฐานะขันที ถูกดับฝันทั้งเส้นทางอำนาจและเงินตรา เมื่อเวลาไม่กี่ปีหลังจากนั้นได้เกิดการปฏิวัติซินไฮ่ซึ่งล้มล้างระบอบจักรพรรดิและทำให้ราชวงศ์ชิงล่มสลายในปี 1912 นั้นเอง
ขันทีหลายคนหนีไปพร้อมกับสมบัติในวัง แต่ซุนเหยาถิงกลับยังคงทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลตามะปรนนิบัติรับใช้จักรพรรดิปูยีซึ่งยังคงอาศัยภายในเขตพระราชวังต้องห้ามพร้อมเชื้อพระวงศ์คนอื่นๆ ภายใต้การกำกับของรัฐบาล

จนกระทั่งในปี 1924 มีคำสั่งเนรเทศราชวงศ์ทั้งหมดให้ออกจากเขตพระราชฐาน ชีวิตของซุนเหยาถิงจึงต้องระหกระเหินอีกครั้ง ด้วยการติดตามนายไปอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ
“เขาไม่เคยร่ำรวย ไม่เคยมีอำนาจ มีแต่ประสบการณ์และความลับอีกมากมาย” เจียอิ๋งหัว ผู้เขียนหนังสือ The Last Eunuch of China กล่าว
ชีวิตที่ราวกับถูกโชคชะตาเล่นตลกของซุนเหยาถิงได้รับการถ่ายทอดให้กับเจียอิ๋งหัว นักประวัติศาสตร์สมัครเล่นผู้ซึ่งตลอดหลายปีแห่งมิตรภาพได้ดึงความลับที่เจ็บปวดหรือใกล้ชิดเกินกว่าจะรั่วไหลให้นักข่าวได้รับรู้ ก่อนจะกลายมาเป็นหนังสือล้ำค่าที่ชื่อว่า The Last Eunuch of China
“เขาฉลาดนะ ฉลาดมาก ถ้าจักรวรรดิไม่ล่มสลาย เขาอาจกลายเป็นผู้มีอำนาจที่สุดคนหนึ่งเลยก็เป็นได้”
“เขามีชีวิตที่น่าเศร้ามาก อย่างไรก็ตาม ซุนเหยาถิงก็ยังคิดว่ามันคุ้มค่ามากที่ตัวเองเสียสละสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตเพื่อพ่อและครอบครัว แม้มันจะไร้ผลอย่างที่พวกเขาหวังไว้ก็ตาม”
ในช่วงท้ายของชีวิต ราวปี 1930 ด้วยปัญหาด้านสุขภาพ ซุนเหยาถิงจึงอำลาฐานะขันทีส่วนพระองค์แล้วเดินทางกลับมายังกรุงปักกิ่ง สถานที่ซึ่งเต็มไปด้วยปัญหาที่รุมเร้า สุดท้ายเขาก็ได้พักพิงที่วัดแห่งหนึ่งอย่างสงบสุข
อย่างไรก็ตาม ในปี 1966 ได้เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งใหญ่ในประเทศจีน มีทหารจำนวนหนึ่งบุกเข้ามาหาเขาถึงในวัดและพรากสมบัติเพียงชิ้นเดียวที่ซุนเหยาถิงถนอมมาทั้งชีวิต…
อดีตกล่องดวงใจที่ถูกเก็บไว้ในกล่องอย่างดี สิ่งนี้ถูกนำมาเผาจนเหลือแต่เถ้าถ่าน…เป็นการสื่อถึงวัฒนธรรมแต่โบราณที่ถูกทำลายไปพร้อมกับหัวใจที่แหลกสลาย
ความเสียใจที่เกิดขึ้นส่งผลต่อสุขภาพของอดีตขันทีอย่างมาก
ท้ายที่สุดในปี 1996 ซุนเหยาถิงก็ได้จากโลกนี้ไปในวัย 94 ปี พร้อมกับการปิดตำนานขันทีคนสุดท้ายแห่งราชวงศ์ชิง
ที่มา:
– reuters
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น