CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

Tempest Prognosticator อุปกรณ์จากศตวรรษที่ 19 ใช้ปลิงเป็นตัวทำนายสภาพอากาศ

ย้อนกับไปในช่วงเวลาที่มนุษย์ยังไม่มีดาวเทียมสำรวจอากาศ คนในอดีตได้คิดวิธีการมากมายเพื่อที่จะทำนายสภาพอากาศ เกิดเป็นเครื่องมือทำนายอากาศรูปแบบแปลกๆ มากมายทั่วโลก

และในบรรดาเครื่องมือเล่านั้น เราก็ยังมีเครื่องมือที่ดูจะแปลกและแตกต่างจากเครื่องมือชิ้นอื่นๆ มากอยู่ชิ้นหนึ่ง โดยมันเป็นเครื่องมือที่ชื่อว่า “Tempest Prognosticator” อุปกรณ์ทำนายสภาพอากาศ โดยใช้ปลิงเป็นแกนหลักในการทำงาน

 

 

มันเป็นเรื่องที่มนุษย์เราทราบกันมานานแล้วว่าสัตว์บางชนิดนั้นมีความสามารถในการรับรู้สภาพอากาศได้โดยสัญชาตญาณ

ดังนั้นในช่วงศตวรรษที่ 19 ของอังกฤษ นายแพทย์และนักประดิษฐ์ “George Merryweather” สังเกตเห็นว่าปลิงที่เขาเลี้ยงไว้รักษาโรคจะมีพฤติกรรมแปลกๆ เมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเวลาที่จะมีพายุเข้าชายฝั่ง เขาจึงตัดสินใจที่จะนำปลิงเหล่านี้มาทำอุปกรณ์ทำนายสภาพอากาศเสียเลย

 

 

อ้างอิงจากข้อมูลของนายแพทย์ Merryweather ตามปกติปลิงนั้นจะเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่หากพายุกำลังจะมา พวกมันจะพยายามหนีออกจากแหล่งน้ำ และจะขดตัวคล้ายลูกบอลเวลาที่เกิดพายุขึ้นจริงๆ

เครื่อง Tempest Prognosticator ของเขาอาศัยสัญชาตญาณในจุดนี้ ด้วยการนำปลิงมาเลี้ยงไว้ในขวดแก้ว 12 ขวดซึ่งใส่น้ำเอาไว้ให้สูงราวๆ 1 นิ้วครึ่ง ก่อนที่จะปิดปากขวดด้วยฝาแบบพิเศษซึ่งจะมีสายซึ่งโยงไปยังระฆังโลหะอีกที

 

 

ทันทีที่มีทีท่าที่จะเกิดพายุเหล่าปลิงจะพยายามหนีจากน้ำขึ้นไปยังฝาขวดซึ่งการกระทำเหล่านี้จะทำให้ฝาขวดแบบพิเศษกระเด็นออก

ส่งผลให้ระฆังโลหะดังขึ้นและเตือนให้มนุษย์ทราบถึงพายุที่กำลังจะมาทันที ยิ่งระฆังดังหลายครั้งมากเท่าไหร่ โอกาสที่พายุจะเกิดขึ้นก็จะยิ่งมากตามไปด้วย

นายแพทย์ Merryweather ใช้เวลาตลอดช่วงปี 1850 ในการทดสอบอุปกรณ์ที่เขาสร้างขึ้น ก่อนที่นำเครื่องมือของเขาไปเสนอให้กับภาครัฐ

ซึ่งนับว่าเป็นโชคร้ายมากที่ในเวลานั้น พลเรือเอก Robert FitzRoy สนใจในระบบทำนายอากาศอย่าง “Storm Glass” ที่อาศัยสารเคมีในการทำนายอากาศมากกว่าการฝากความหวังไว้กับปลิง

 

 

ด้วยเหตุนี้เองผลงานของนายแพทย์ Merryweather จึงไม่ได้เป็นที่นิยมเท่าที่ควร และเครื่องมือที่ชื่อ Tempest Prognosticator ก็ถูกจดจำในประวัติศาสตร์ต่อไปในฐานะของผลงานแปลกๆ อีกชิ้นที่ถูกคิดค้นขึ้นมาแต่ไม่ได้นำมาใช้งานอย่างจริงจัง

 

ที่มา amusingplanet, atlasobscura


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น