สรุปการแถลงจาก นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในประเด็นตรวจสอบการทุจริตและปัญหาขาดทุนของ “การบินไทย” ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
มีประเด็นน่าสนใจที่ทีมงานแคทดั๊มบ์ สรุปมาได้ดังนี้…
1. การขาดทุนจากเรื่องจัดซื้อเครื่องบิน 10 ลำ วงเงิน 53,000 ล้านบาท
รวมถึงเปิดเส้นทางการบินใหม่ระหว่างปี พ.ศ. 2548-2551 ทำให้ขาดทุนในเส้นทางการบินอย่างน้อย 12,000 ล้านบาท ในช่วงนั้น
หลังปี พ.ศ. 2551 มีการนำเอาเครื่องดังกล่าวมาบริการเส้นทางบินใหม่อีก 51 เส้นทาง แต่ก็ประสบปัญหาขาดทุนอีก 39,000 ล้านบาท จนต้องปิดให้บริการในปี พ.ศ.2556
รวมวงเงินที่ขาดทุนจากการดำเนินงาน และค่าเสื่อมของเครื่องบิน เป็นเงินประมาณ 68,000 ล้านบาท
2. การรับสินบนให้ซื้อเครื่องยนต์
ปัญหาการรับสินบนจาก “โรลส์-รอยซ์” ให้เจ้าหน้าที่การบินไทย 254 ล้านบาท เพื่อซื้อเครื่องยนต์รุ่น Trent-500 จำนวน 7 เครื่อง รวมมูลค่าเครื่องและจ้างช่างซ่อมแบบเหมาจ่าย 4,700 ล้านบาท
3. พบการทุจริตจ่ายสินบน 2,600 ล้านบาท ให้เจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมือง และพนักงานการบินไทย แลกกับการที่บริษัทจัดซื้อเครื่องบิน A380 มูลค่ากว่า 53,000 ล้านบาท
4. พบการส่อทุจริต ในสัญญาซ่อมบำรุงเครื่องยนต์แบบเหมาจ่ายในปี 2560-2562 แต่ไม่ได้ดำเนินการตามนั้นจริงๆ
ส่งผลให้การบินไทยเสียหาย เป็นมูลค่าที่ประเมินได้ราว 12,000 ล้านบาท
5. การส่อทุจริตในการจ่าย OT
ยกตัวอย่างเช่น ฝ่ายช่างคนหนึ่งเงินเดือน 73,000 บาท แต่ได้ OT 246,000 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าเงินเดือนถึง 3 เท่า!!
พบการลงเวลา OT แบบผิดปกติ ถ้านับว่าปีหนึ่งมี 365 วัน แต่พบการลงเวลา OT ซึ่งสามารถนำมาคำนวณเป็นวันทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ได้ถึง 419 วัน
6. การบริหารที่ส่อเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง
ยกตัวอย่างเช่น รักษาการผู้อำนวยการใหญ่คนหนึ่ง รับเงินพิเศษ เดือนละ 200,000 บาท แต่ผ่านไป 9 เดือน เงินตรงนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 600,000 บาท
นอกจากนี้ยังมีการจัดจ้างรองผู้อำนวยการใหญ่ จำนวน 2 ราย ระยะเวลา 4 ปี ที่เลือกมาจากคนภายในของการบินไทย อาจส่อถึงการเอื้อผลประโยชน์ให้พวกพ้อง
7. การส่อเอื้อประโยชน์ ต่อสัญญาให้เอกชนรายเดิม ได้สิทธิขายสินค้าปลอดภาษีบนเครื่องบินอีก 9 เดือน
แทนที่จะประมูลสัมปทานใหม่ 3 ปี อาจก่อให้เกิดความเสียหายราว 650 ล้านบาท
8. ปัญหาขาดทุนจากการบริหารสายการบินไทยสมายล์ ที่การบินไทยถือหุ้นอยู่ 100% และมีการส่งผู้บริหารของการบินไทย เข้าไปรับตำแหน่งสำคัญในไทยสมายล์โดยตลอด
ไทยสมายล์เปิดให้บริการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557-2562 รวมการขาดทุนประมาณ 8,000 ล้านบาท
หลังจากนี้คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและปัญหาขาดทุน จะส่งเรื่องต่อไปยังต่อหน่วยงานต่างๆ
ได้แก่ กระทรวงการคลัง, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เพื่อดำเนินการต่อไป
ในขณะที่ฝ่ายผู้ถูกพาดพิงจากการตรวจสอบดังกล่าว ก็จะต้องให้ข้อมูลเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงกันต่ออีกครั้ง ว่าจะมีความผิดและทุจริตตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นหรือไม่..!?
เรียบเรียง #ประธานเหมียว
ภาพ #เหมียวจอลลี่
Advertisement
0 Comments