ป่าเขตร้อนอย่างป่าแอมะซอน ตั้งแต่ในอดีตมาถูกมองว่าเป็นดังปอดข้างหนึ่งของโลก ซึ่งรับหน้าที่ดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ และเปลี่ยนมันเป็นออกซิเจนให้คนหายใจ
ปัญหาคือเช่นเดียวกับที่ปอดของมนุษย์ค่อยๆ เสียความสามารถในการทำงานไปด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง เมื่อล่าสุดนี้เอง นักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ที่นำโดยมหาวิทยาลัยลีดส์ของอังกฤษก็ได้ออกมาบอกว่า
ในปัจจุบันป่าเขตร้อนของโลกกำลังเสียความสามารถในการดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลอะไรบางอย่าง จนป่าบางที่ อย่างป่าแอมะซอนในอนาคตอาจจะเพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าที่จะช่วยดูดซับมันเสียอีก
อ้างอิงจากรายงานที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Nature นักวิทยาศาสตร์ค้นพบความจริงอันน่าแปลกใจนี้ จากการตรวจสอบตันไปกว่า 300,000 ต้น ในป่าที่แอฟริกาและป่าแอมะซอนเป็นเวลายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ
การตรวจสอบในครั้งนี้ จัดทำโดยอาศัยตะปูอะลูมิเนียมแบบพิเศษซึ่งจะถูกตอกไปในต้นไม้ตามป่าต่างๆ เพื่อตรวจสอบปริมาณคาร์บอนสะสมในตัวต้นไม้แต่ละต้นทั้งที่ยังคงมีชีวิตอยู่และที่ตายไปแล้ว
พวกเขาพบว่าปริมาณของคาร์บอนซึ่งสะสมในต้นไม้ของป่าแอมะซอนนั้น ในปัจจุบันได้ลดลงถึงราวๆ 1 ใน 3 จากที่ต้นไม้เคยมีในช่วงปี 1990 ซึ่งหมายความว่าต้นไม้เหล่านี้เริ่มที่จะดูดคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลงไปเรื่อยๆ แล้ว
ส่วนป่าที่แอฟริกาเองแม้ว่าจะช้ากว่าป่าแอมะซอนมาก แต่ก็เริ่มมีการลดลงของปริมาณคาร์บอนสะสมเช่นกัน โดยจากสภาพในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ก็ได้คาดการณ์ออกมาว่า ในอีกราวๆ 10 ปี ป่าที่แอฟริกาจะดูดคาร์บอนไดออกไซด์ได้น้อยลงถึง 14% เมื่อเทียบกับเมื่อ 10-15 ปีก่อน
นักวิทยาศาสตร์คาดว่าการลดลงของความสามารถการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เกิดขึ้นนี้ น่าจะเกิดจากการที่ต้นไม้ในป่าอ่อนแอลงเพราะอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากและรวดเร็วของพื้นที่ บวกกับภัยแล้งที่เกิดขึ้นบ่อยขึ้นเรื่อยๆ เป็นหลัก ซึ่งหลายๆ สิ่งที่กล่าวมานี้ก็มีความเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนเสียด้วย
นี่นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่น่ากลัวเอามากๆ เพราะหากต้นไม้เขตร้อนยังคงเสียความสามารถในการดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปเรื่อยๆ แบบนี้ ภายในช่วงปี 2060 ต้นไม้ที่เหลืออยู่จะมีการดูดคาร์บอนไดออกไซด์ที่น้อยมาก หรือไม่มีเลย
ซึ่งนั่นจะทำให้แทนที่ป่าเหล่านี้จะช่วยลดภาวะโลกร้อน มันจะกลายเป็นสิ่งที่สร้างความเสี่ยงที่จะเพิ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศไปแทน เนื่องจากเหตุการณ์ไฟป่าที่อาจจะเกิดขึ้นได้ต่อไปเลย
“เราพบว่าหนึ่งในผลกระทบที่น่ากังวลที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เริ่มขึ้นแล้ว” คุณ Simon Lewis นักนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยลีดส์กล่าว “นี่ถือว่าเป็นกรณีที่เลวร้ายกว่าที่คิดไว้หลายขุม ต่อให้เอาไปเทียบกับแบบจำลองสภาพภูมิอากาศในแง่ที่เลวร้ายที่สุดก็ตาม”
ที่มา theguardian, foxnews และ nature
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น