มันเป็นเรื่องที่หลายๆ คนคงจะทราบกันดีว่าในบรรดาวิธีการที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อรักษาโรคมะเร็งนั้น การตัดต่อพันธุ์กรรมด้วยระบบ CRISPR นับว่าเป็นหนึ่งในวิธีการที่หลายๆ ประเทศให้ความสนใจเป็นอย่างมาก แม้ว่าในทางปฏิบัติแล้ววิธีดังกล่าวอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้มากมายก็ตาม
ดังนั้น นี่อาจจะเป็นข่าวที่ค่อนข้างดีเลยว่าได้ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา ทางสหรัฐอเมริกา ได้มีการออกมาบอกว่าพวกเขาประสบความสำเร็จในการทดลองตัดต่อ DNA ต่อต้านมะเร็งแบบไม่มีผลข้างเคียงแล้ว ในอาสาสมัครที่เป็นมนุษย์ถึง 3 ราย
การตัดต่อที่ว่านี้ จัดทำขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ด้วยการใช้ CRISPR ลบยีนที่อาจรบกวนความสามารถในการต่อสู้กับโรคมะเร็งออกไปจาก “T cells” หนึ่งในเซลล์ตัวสำคัญของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วน่าจะช่วยให้เซลล์เหล่านี้จัดการกับเนื้องอกมะเร็งได้ดีขึ้น
แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม เราคงต้องอธิบายไว้ในที่นี้ด้วยว่า สิ่งที่งานวิจัยครั้งนี้ทำสำเร็จคือการตัดต่อพันธุกรรมเพื่อต่อต้านโรคมะเร็ง “โดยที่ไม่มีผลข้างเคียง” เท่านั้น ไม่ได้ประสบความสำเร็จในการช่วยให้อาสาสมัครหายจากการเป็นมะเร็ง
เพราะแม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะสามารถโดยที่ไม่มีผลข้างเคียงใดๆ กับร่างกายของอาสาสมัครทั้ง 3 ตลอดระยะเวลากว่า 9 เดือนก็ตาม แต่หลังจากการทดลองจบลงหนึ่งในสามอาสาสมัครก็เสียชีวิตไปจากโรคมะเร็งร้ายอยู่ดี และอาการของอาสาสมัครที่เหลืออีกสองคนก็ไม่ได้ดีขึ้นจากการตัดต่อเลย
แต่แม้การรักษาจะไม่สำเร็จอย่างที่หวังก็ตาม งานวิจัยในครั้งนี้ก็ใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์เลยเสียทีเดียว เพราะอ้างอิงจากในรายงานที่ออกมา วิธีการตัดต่อพันธุกรรมที่ไม่มีผลข้างเคียงของพวกเขา อาจจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานวิจัยอื่นๆ ที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งของ T-cells ต่อไปได้
และก็ไม่แน่เหมือนกันว่าหากในอนาคต เราสามารถคิดค้นการตัดต่อพันธุกรรมเพื่อต่อต้านโรคมะเร็งได้สำเร็จจริงๆ งานวิจัยดังกล่าวก็อาจจะมีรากฐานมาจากการทดลองในครั้งนี้ก็เป็นได้
ที่มา sciencealert, sciencemag, sciencenews
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น