เมื่อเราพูดถึงสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว เชื่อว่าภาพที่ปรากฏขึ้นมาในหัวของหลายๆ คน อาจจะมีความแตกต่างกันไปอยู่บ้าง ถึงอย่างนั้นมันก็คงจะไม่พ้นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กเอามากๆ กันเสียเป็นส่วนมาก
ว่าแต่เพื่อนๆ ทราบกันหรือไม่ว่าสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวนั้น บางชนิดก็อาจจะมีขนาดที่ใหญ่อย่างไม่น่าเชื่อได้เหมือนกัน และเราก็พบกับพวกมันได้ ในที่ที่เราคุ้นเคยกันอย่างตามเศษหินปะการังใต้ทะเลเสียด้วย
สิ่งมีชีวิตที่ว่านี้ คือ “Valonia ventricosa” หรือชื่อเล่นที่ว่า “สาหร่ายฟอง” และ “ลูกตากะลาสี” โดยมันอาจจะมีรูปร่างคล้ายกับลูกองุ่น แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวในตระกูลตะไคร้น้ำต่างหาก
Valonia ventricosa ตามปกติแล้วจะมีขนาดโดยเฉลี่ยตั้งแต่ลูกแก้วขนาดเล็กไปจนถึงลูกตาสมชื่อลูกตากะลาสีของมัน แต่ในบางครั้งมันก็อาจจะสามารถมีขนาดใหญ่โตถึง 4-9 เซนติเมตรได้เช่นกัน
ที่สิ่งมีชีวิตชนิดนี้สามารถมีขนาดใหญ่โตได้อย่างไม่น่าเชื่อแม้จะมีเพียงเซลล์เดียวนั้น มาจากการที่พวกมันมี “โดเมนไซโตพลาสซึม” อยู่หลายแห่ง ซึ่งในโดเมนไซโตพลาสซึมแต่ละตัวก็จะมีนิวเคลียสและคลอโรพลาสต์เป็นของตัวเอง และทำหน้าที่คล้ายสะพานเชื่อมโครงสร้างภายใน Valonia ventricosa อีกที
ภาพกล้องจุลทรรศน์เรืองแสงของโครงสร้างภายในของ Valonia ventricosa โดยตัว n ที่เห็นหมายถึงนิวเคลียส
โครงสร้างภายในเช่นนี้ มีความแข็งแรงมากพอที่จะทำให้ Valonia ventricosa ไม่พังทลายไปง่ายๆ เหมือนกับสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวอื่นๆ ที่มักจะคงรูปร่างไม่ได้หากมันมีขนาดใหญ่เกินไป ซึ่งหมายความว่ามันจะไม่แตกออกเหมือนลูกโป่งแม้เราใช้มือบีบมัน
กลับกันในกรณีที่เราบีบ Valonia ventricosa ลูกหนึ่งอย่างรุนแรง อาจจะส่งผลให้เกิด Valonia ventricosa ขนาดเล็กจำนวนมากเพิ่มขึ้นมาแทนได้ นั่นเพราะสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ต้องการเซลล์เพียงแค่หนึ่งเดียวในการเอาชีวิตรอดและแบ่งตัวออกไปเป็นสิ่งมีชีวิตอีกตัวนั่นเอง
ที่มา sciencealert, twistedsifter และ biology.stackexchange
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น