CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

ย้อนรอย วลาดิเมียร์ โคมารอฟ ชายผู้สละชีวิต “ตกลงมาจากอวกาศ” เพื่อช่วย “ยูริ กาการิน”

หากเราพูดถึงนักบินอวกาศที่มีชื่อเสียงของฝั่งโซเวียตในช่วงสงครามเย็น เชื่อว่าคงมีหลายคนไม่น้อยที่นึกถึง “ยูริ กาการิน” นักบินอวกาศคนแรกของโลกที่สามารถเดินทางกลับโลกอย่างปลอดภัย

แต่ทราบกันหรือไม่ว่ายูริ กาการินนั้น หลังจากที่ชื่อว่าเป็นฮีโร่ของประชาชนแล้ว เขาก็เคยเกือบถูกส่งออกไปตายในภารกิจที่แทบไม่มีทางสำเร็จด้วย เพียงแต่เขาทั้งรอดมาได้ เพราะการสละชีวิตของชายอีกคนก็เท่านั้น

 

วลาดิเมียร์ โคมารอฟ นักบินหลักของยานอวกาศ Soyuz 1

 

ชายผู้ที่ต่อชีวิตให้กับกาการินนั้น มีชื่อว่า “วลาดิเมียร์ โคมารอฟ” ชายผู้เป็นเพื่อนของ กาการินเอง และนักบินหลักของยานอวกาศ Soyuz 1

เรื่องราวของเขา เกิดขึ้นในปี 1967 ราวๆ 6 ปี หลังจากที่ยูริ กาการินกลายเป็นมนุษย์คนแรกของโลกขึ้นไปบนอวกาศได้สำเร็จ

โดยในเวลานั้น ทางสหภาพโซเวียตได้มีกำหนดการปล่อยยานอวกาศ Soyuz 1 ขึ้นสู่อวกาศ เพื่อต่อยอดความสำเร็จของยาน Vostok 3 KA ที่เคยนำกาการินไปส่งในอวกาศอีกที

 

ยานอวกาศ Soyuz 1 ซึ่งต่อมาจะต้องจบลงด้วยหายนะ

 

ต่างไปจากโครงการก่อนหน้า กำหนดการของ Soyuz 1 ค่อนข้างมีปัญหามากจนกินเวลานานกว่าที่ควรเป็น ทำให้ผู้บริหารระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์เริ่มจะทนไม่ไหว จนมีการกำหนดเส้นตายของการปล่อยจรวดขึ้น

เส้นตายที่ออกมานี้เรียกได้ว่าเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นการทำงานในโปรเจกต์นี้จึงเต็มไปด้วยความตึงเครียด และแม้นักวิทยาศาสตร์จะพยายามแค่ไหน ยานอวกาศก็ไม่พร้อมมากพอจะขึ้นบินอยู่ดี

แน่นอนว่าทางวิศวกรนั้น อยากให้มีการเลื่อนกำหนดการปล่อยยานออกไปก่อนกันเป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่กาการินเองก็เคย พยายามฝากข้อความ 10 หน้าที่เกี่ยวข้องกับการขอเลื่อนกำหนดการให้กับเพื่อนใน KGB เลย

อย่างไรก็ตามกลับไม่มีใครกล้าพอที่จะส่งข้อความของกาการินไปให้กับเบื้องสูง ดังนั้นสุดท้าย Soyuz 1 จึงต้องดำเนินการปล่อยตามกำหนดการทั้งๆ ที่ยังไม่พร้อมจนได้

 

ยูริ กาการินวีรบุรุษของประชาชน และเพื่อนสนิทของ วลาดิเมียร์ โคมารอฟ

 

แน่นอนว่าเมื่อรู้ทั้งรู้ ว่ายาน Soyuz 1 ที่ยังไม่เสร็จ จะต้องเกิดอุบัติเหตุ หรือตกแน่ๆ หลายคนจึงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นักบินของยานอย่างโคมารอฟ มีสิทธิและควรจะปฏิเสธการขึ้นบินไป

อย่างไรก็ตามโคมารอฟก็รู้ตัวดีว่าหากเขาไม่เป็นคนขึ้นบิน เบื้องสูงจะต้องหานักบินมาบินแทนเขา และนักบินคนดังกล่าว จะต้องเป็นกาการินที่เป็นทั้งเพื่อน ทั้งฮีโร่ของประชาชนเป็นแน่

และโคมารอฟก็ไม่คิดที่จะให้ชายผู้เป็นเหมือนตัวแทนความฝันของประชาชนและเด็กๆ ต้องไปจบชีวิตกับโครงการที่ไร้ความหวังนี้เด็ดขาด

 

“ถ้าผมไม่เป็นคนไป พวกเขาจะส่งนักบินสำรอง (กาการิน) ไปแทน…

เขาจะตายแทนผม พวกเราจะต้องไม่ปล่อยให้เป็นแบบนั้น” 

โคมารอฟกล่าวกับกลุ่มเพื่อนทั้งน้ำตา

 

ด้วยเหตุนี้เองโคมารอฟจึงตัดสินใจที่จะขับ Soyuz 1 ด้วยตัวเอง แม้ว่าจะรู้ว่าตัวเองจะต้องตาย และไม่คิดจะเปลี่ยนใจต่อให้กาการินจะปรากฏตัวขึ้นในวันปล่อยจรวดในชุดนักบินเตรียมพร้อมไปตายแทนเขาเช่นกันก็ตาม

 

วลาดิเมียร์ โคมารอฟ และยูริ กาการิน ในสมัยที่ไปล่าสัตว์ด้วยกัน

 

แน่นอนว่าในวันนั้น การปล่อยตัวยาน Soyuz 1 ก็จบลงด้วยหายนะอย่างที่หลายคนคาดไว้จริงๆ

อุปกรณ์ที่ควรจะทำงานกว่าครึ่งไม่สามารถทำงานได้จริง จนต้องมีการเรียกตัวยานกลับโลกอย่างเร่งด่วน และยกเลิกกำหนดการปล่อยยานอื่นๆ ในวันนั้นทั้งหมด

และราวกับเป็นการตอกย้ำในโชค แม้แต่ตอนกลับมายังโลกร่มชูชีพของตัวยานก็ยังไม่ยอมกางอีก ทำให้โคมารอฟจึงพุ่งลงมาจากอวกาศด้วยความเร็วพอๆ กับอุกกาบาต

 

 

ว่ากันว่า ในวาระสุดท้ายโคมารอฟได้ตัดสินใจเปิดตัวเปิดใจระบายความในใจของตัวเองออกมาผ่านช่องทางติดต่อกับภาคพื้นดิน โดยมันเป็นการก่นด่าแบบสาดเสียเทเสียถึงทุกคนที่ทำให้เขาต้องมาพบเรื่องแบบนี้

และการติดต่อสื่อสารของเขาก็ถูกดักฟังไว้ได้โดยสหรัฐอเมริกาด้วย (แม้ว่านักประวัติศาสตร์หลายคน จะยังสงสัยในความน่าเชื่อถือของข้อมูลส่วนนี้อยู่)

แต่ไม่ว่าข้อมูลข้างบนจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ สุดท้ายแล้วยาน Soyuz 1 ก็ต้องตกลงมากระแทกกับพื้นโลกอย่างจังจนไฟลุกท่วม ในสภาพที่หมดหนทางที่นักบินจะรอดชีวิต

ว่ากันตามตรง แม้แต่ร่างของโคมารอฟที่กู้มาได้ ก็ยังเหลือเพียงร่างกายส่วนบนที่ไหม้เป็นตอตะโกด้วยซ้ำ

 

 

ดังนั้นในท้ายที่สุดแล้ว ร่างที่ยังหลงเหลือของโคมารอฟ จึงได้ได้รับการทำพิธีในกรุงมอสโกด้วยโลงศพแบบเปิด และมีการเชิญเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์ไปเข้าร่วมตามคำขอสุดท้ายของเขา

แต่นี่ไม่ใช่การทำความอยากเป็นเกียรติหลังความตายของนักบินผู้กล้าแต่อย่างไร

 

กลับกันมันคือล้างแค้นเล็กๆ ของนักบินคนหนึ่งที่บังคับให้เจ้าหน้าที่ระดับสูง

ต้องมาดูผลงานที่เกิดขึ้นจากคำสั่งไร้เหตุผลของพวกเขาต่างหาก

 

 

ที่มา rarehistoricalphotosnprgizmodo


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น