เมื่อเราพูดถึงลักษณะของดาวเคราะห์นอกระบบที่มีสภาพแวดล้อมที่ “โหดร้ายที่สุด” หลายๆ คนก็จะจินตนาการภาพของดาวดังกล่าวต่างๆ กันไป ไม่ว่าจะเป็นดาวที่มีอากาศเป็นพิษ หรือดาวที่อาบไปด้วยรังสี
แต่หากว่าเราถามคำถามเดียวกันนี้กับองค์การอวกาศยุโรป ดาวเคราะห์นอกระบบที่มีสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายที่สุดของพวกเขานั้น ก็คงจะไม่พ้นดาวที่ชื่อ “WASP-189b” ที่อยู่ห่างจากโลกไปราวๆ 322 ปีแสง เป็นแน่
นั่นเพราะดาวเคราะห์ดวงนี้ เป็นดาวที่มีอุณหภูมิสูงถึง 3,200 องศาเซลเซียสทั้งๆ ที่เป็นดาวเคราะห์ ร้อนกว่าดาวแคระแดงที่เป็นดาวฤกษ์ในอวกาศบางดวงเสียอีกนั่นเอง

ดาว WASP-189b เป็นดาวในกลุ่มดาวราศีตุลย์ ที่มีลักษณะคล้ายกับดาวพฤหัสบดี ของระบบสุริยะกล่าวคือมันเป็นดาวที่ประกอบด้วยแก๊สเป็นหลัก และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ราวๆ 224,000 กิโลเมตรได้
(ใหญ่กว่าดาวพฤหัสบดีของเราที่มีผ่านศูนย์กลาง 139,820 กิโลเมตร เกือบเท่าตัว)
มันถูกพบเป็นครั้งแรกในปี 2018 โดย กล้องโทรทรรศน์ WASP-South ในแอฟริกาใต้ ก่อนที่จะได้รับการศึกษาอย่างจริงจังในอีก 2 ปีต่อมาด้วยความช่วยเหลือของกล้องโทรทรรศน์อวกาศ CHEOPS อีกที

โดยสิ่งที่ทำให้ดาว WASP-189b กลายเป็นดาวที่มีสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายที่สุด นั้นมาจากการที่มันโคจรอยู่ใกล้ดาวฤกษ์ “HD 133112” ของมันเองมากๆ ถึงขนาดที่มันใช้เวลาโคจรรอบดาวแค่ 2.7 วัน
ทั้งๆ ที่ดาว HD 133112 นั้นใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ของเราร่วม 2.4 เท่า และร้อนกว่าดวงอาทิตย์ถึง 2,200 องศาเซลเซียส เรียกได้ว่าร้อนจนดาวเปล่งแสงเป็นสีฟ้าเลย
ความร้อนและระยะห่างระดับนี้ ทำให้ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ดาว WASP-189b จะกลายเป็นดาวที่ร้อนที่สุดเท่าที่กล้อง CHEOPS เคยพบมา มันไม่เพียงแต่จะร้อนจนสิ่งมีชีวิตหมดสิทธิ์อาศัยอยู่เท่านั้น
เพราะแม้แต่หากมีเหล็กบนดาวเอง เหล็กเหล่านั้นยังถึงกลับเปลี่ยนสภาพเป็นก๊าซเพราะความร้อนเลยด้วยซ้ำ
“WASP-189b เป็นหนึ่งในดาวเคราะห์ที่ร้อนแรงที่สุดที่เรารู้จักเลย” คุณ Monika Lendl นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเจนีวาและผู้เขียนหลักของงานวิจัยกล่าว
และแม้ว่าเรื่องราวของดาวดวงนี้จะเป็นอะไรที่ไกลตัวเราอยู่บ้าง แต่เราก็คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเรื่องราวของดาวสุดโหดร้ายที่โคจรรอบดวงอาทิตย์สีฟ้านั้น มันเป็นอะไรที่ฟังดุน่าสนใจเอามากๆ เลย
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น