ในช่วงปิดเทอมของระบบการศึกษา ถือเป็นเรื่องปกติที่เด็กๆ จะได้รับการบ้านชิ้นโตติดกลับมาด้วย นั่นหมายความว่าต้องใช้เวลาในการทำค่อนข้างนาน เพื่อที่จะได้เสร็จพร้อมส่งทันก่อนเปิดเทอม เนื่องจากตามวิสัยเด็กทั่วไปจะต้องออกไปเล่น แอบอู้ไม่ทำการบ้านบ้าง
แม้กระนั้นแล้ว วีรกรรมสุดฮาของเด็กชายรายหนึ่งจากประเทศญี่ปุ่น ก็ถูกคุณแม่นำมาแฉให้ชาวโลกได้รับรู้ว่า ลูกชายเธอแอบคิดการใหญ่เกินตัวมากๆ หลังจากที่ได้รับการบ้านวิชาค้นคว้าอิสระในช่วงปิดเทอม
https://www.instagram.com/p/B1pHt_RACqH/
sasabode อินสตาแกรมของคุณแม่ชาวญี่ปุ่น นำเรื่องราวที่เธอค้นพบว่า ลูกชายได้รับการบ้านให้ทำการค้นคว้าอิสระในหัวข้อที่เลือกเอง ต่างจากเด็กคนอื่นๆ ที่มักจะทำเรื่องทั่วไป อย่างการสังเกตการเติบโตของสัตว์ แมลง หรือต้นไม้
แต่ลูกชายของเธอเลือกหัวข้อ ‘ปฏิกิริยาของตัวเองและครอบครัว เมื่อดองการบ้านไว้จนถึงวันสุดท้าย’ ระบุชัดเจนและแน่วแน่บนปกสมุด
แน่นอนว่าวิธีการวิจัยนั้นก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร ต้องปล่อยให้เวลาผ่านไปด้วยการสังเกตความรู้สึกของตัวเองกับคนในครอบครัว ทั้ง พ่อ แม่ และน้องชาย
การบันทึกจะเริ่มตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้นหัวข้อ ไปจนถึงวันสุดท้ายใกล้เดดไลน์เปิดเทอม โดยที่เจ้าลูกชายตัวแสบต้องห้ามใจตัวเอง ไม่ปล่อยให้ตัวเองทำการบ้านเสร็จ เดี๋ยวจะทำให้ผลวิจัยนั้นล้มเหลวไม่เป็นท่าตลอดช่วงปิดเทอมฤดูร้อน
เมื่อคุณแม่เปิดอ่านผลการทดลอง จดบันทึกไว้เป็นไดอารี่ตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย
วันแรก
– ปิดเทอมฤดูร้อนได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ผมรู้สึกตื่นเต้นสดชื่น ไม่มีการบ้านอะไรในหัวเลย
วันที่สองถึงวันที่สี่
– ออกเที่ยวแคมป์มาสนุกเวอร์ สบายใจไม่มีการบ้านในหัวอีกแล้ว
วันที่ห้าถึงวันที่แปด
– ไปว่ายน้ำ ไปดูผึ้ง ทุกวันรู้สึกมีความสุขมาก ไม่มีการบ้านมากวนใจ
วันที่เก้าถึงวันที่สิบสาม
– เที่ยวเทศกาลทานาบาตะ แล้วก็ไปว่ายน้ำอีก สนุกจริงๆ ไม่ต้องห่วงการบ้าน (อีกแล้ว)
วันที่สิบสี่ถึงวันที่สิบแปด
– ออกไปเดินเที่ยวระยะ 100 กิโลฯ ในหัวไม่นึกถึงเรื่องการบ้านเลยเพราะเหนื่อยจัด
วันที่สิบเก้าถึงวันที่ยี่สิบสอง
– ไปตั้งแคมป์ ไปทะเล ไปบ้านยาย ไปปิ้งย่างบาร์บีคิว ดูดอกไม้ไฟ เที่ยวบ้านเพื่อน กินน้ำแข็งใส ทำกิจกรรมเยอะแยะสนุกมาก แต่ในใจเริ่มตุ้มต่อมเมื่อช่วงปิดเทอมใกล้จะจบลงแล้ว
เหลือเวลาอีกสามวัน
– จริงๆ แล้วมีการบ้านดองเหลือบานเบอะขนาดนี้ ต้องรีบตื่นเช้าขึ้นมาจัดการให้หมด แต่ทำไม่ได้เดี๋ยวจะขัดกับงานวิจัยนี้ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมน้องถึงไม่ทำการบ้าน แล้วนี่จะเป็นอะไรมั้ยเนี่ย
มาจนถึงขนาดนี้แล้ว สถานะของการบ้านก็ยังคง ‘ดอง’ อยู่ ช่วงปิดเทอมฤดูร้อนก็ยิ่งใกล้หมดแล้ว ช่วงนี้จึงเริ่มมีสัญญาณของความตึงเครียดออกมา แต่ไม่มีทีท่าว่าการบ้านที่ดองไว้จะเสร็จแต่อย่างใด…
.
เหลืออีกสองวัน
– เช้านี้ฝันว่าไปโรงเรียนโดยไม่ทำการบ้านแล้วโดนครูดุ พอเป็นแบบนั้นก็ตาตื่น นี่มันใกล้เข้ามาทุกทีแล้ว เหงื่อไหลเต็มตัวแบบไม่หยุด
และหลังจากนี้ก็ได้เวลาอ่านผลลัพธ์ของการค้นคว้าวิจัยอิสระ โดยที่คุณแม่เองสังเกตได้ว่าลูกชายเริ่มมีอาการวิตกกังวล
ปฏิกิริยาของคุณตาคุณยาย
– พูดเป็นเล่นไป? จะไปทำทันได้ยังไง?
ปฏิกิริยาของพ่อ
– หัวเราะเบาๆ ‘พ่อก็เคยร้องไห้นั่งทำการบ้านวันสุดท้ายเหมือนกันลูก’
ปฏิกิริยาของแม่
– พอแม่จับได้ว่าการบ้านเสร็จคือเรื่องโกหก แม่โมโหสุดขีด ทำจานแตกหนึ่ง! แม้แม่จะโมโหมาก แต่ผมต้องทำวิจัยให้สำเร็จก่อน เพราะฉะนั้นการบ้านจะเสร็จตอนนี้ไม่ได้ โปรดเข้าใจผมด้วยนะครับ
วันสุดท้าย
– หลับฝันดีและตื่นตอนเช้าสิบโมง อาจจะแปลกหน่อยผมกลับรู้สึกดีแม้จะเป็นวันสุดท้าย การบ้านยังไม่เสร็จ ไม่ฝันถึงครูดุที่โรงเรียนด้วย
– บางทีก็แอบคิด “ถ้าไม่มีการบ้านไปส่ง ครูก็ไม่น่าจะโกรธหรอก” แล้วจะมีการบ้านไปทำไม? มีชีวิตไปเพื่ออะไร? เราเกิดมาทำไม? แล้วเราจะรบราตีกันไปทำไม?
อธิบายความรู้สึกของตัวเอง
– เช้ามาก็ไม่ได้ทำอะไร แต่ดันไปช่วยน้องชายทำการบ้าน พอบ่ายกินมื้อเที่ยงแล้วดันนึกถึงการบ้านของตัวเองที่ยังไม่เสร็จ แล้วมารู้สึกคลื่นไส้แบบนี้ไม่หยุดเลย
– ต่อให้ทำค้นคว้าอิสระก็เถอะ แต่กลับรู้สึกโมโหตัวเองที่เลือกหัวข้อนี้มาทำ อยากย้อนอดีต… อยากย้อนอดีต… อยากย้อนอดีต…
– จะให้ย้อนกลับไปไม่ได้แล้ว ต้องทำเท่านั้น และต้องทำตอนนี้ น้ำตามันไหลออกมาไม่หยุดไม่หย่อน อยากย้อนอดีตเหลือเกิน…
ปฏิกิริยาของคนในครอบครัว
คุณพ่อ: พ่อหัวเราะแล้วพูดว่า “พ่อก็เคยร้องไห้มานั่งทำวันสุดท้ายเหมือนกัน”
คุณแม่: มองหน้าสบตา แต่ไม่พูดอะไร บางทีผมอาจจะเลือกหัวข้อที่ร้ายแรงเกินไปก็ได้
ส่วนของน้องชาย (มานาบุ)
– ตอนเช้า นั่งทำการบ้านตาลีตาเหลือก ตอนบ่าย โผล่ออกไปเล่นกับเพื่อนหน้าตาเฉย “ทำไมน้องมันถึงรู้สึกสบายใจได้ขนาดนั้น”
– เอ๊ะ หรือน้องเลือกหัวข้อเหมือนเรา พอตกกลางคืนมา น้องชายกลับมาบ้านอยู่ในสภาพนั่งทำการบ้านไปร้องไห้ระงมไปด้วย เห็นขนาดนี้แล้ว ไม่น่าทำวิจัยกับตัวเองเลย ใช้น้องทำวิจัยชิ้นนี้ก็น่าจะได้ผลลัพธ์เหมือนกัน
มาที่น้องชายคนเล็กอีกคน (มาโมรุ)
– น้องไม่เข้าใจหรอกว่าการบ้านคืออะไร น้องยังอยู่ในวัยอนุบาลอยู่เลย
ปฏิกิริยาของแฮมซาคุเจทาโร่ (หนูแฮมสเตอร์)
– น้องมองด้วยสายตาแห่งความเป็นห่วง น้องก็น่ารักจังเลยนะ
ปฏิกิริยาของเต่า (1) น้องมองด้วยสายตาแห่งความเป็นห่วง น้องก็น่ารักจังเลยนะ (เหมือนด้านบน)
ปฏิกิริยาของเต่า (2) ก็ยังชมน้องว่าน่ารักเหมือนเดิม มองด้วยสายตาแห่งความเป็นห่วง
เช้าแล้ว เสร็จสิ้น ได้เวลาไปโรงเรียนกัน
ปิดท้ายด้วยความรู้สึกของคุณครูที่มีต่องานชิ้นนี้
คุณครูยอมรับงานค้นคว้าอิสระชิ้นนี้อย่างเต็มใจ พร้อมกับบอกว่า “แหม ได้ประสบการณ์ช่วงปิดเทอมฤดูร้อนมาเยอะเชียวนะ”
ทำไงได้ ก็น้องเอนจอยแคมป์ปิ้งมากกว่าทำการบ้านนี่เนอะ!?
https://www.instagram.com/p/Bz89HNGgHhc/
ที่มา: @sasabode, grapee, news.nicovideo
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น