เพื่อนๆ เคยเป็นกันไหม เวลาไปที่เห็นนกพิราบเดินตามลานกว้างหรือสวนสาธารณะแล้วสงสัยขึ้นมาว่าทำไมพวกมันถึงต้องเดินผงกหัวด้วย
เพราะในปี 1978 คำถามดังกล่าวจะเป็นอะไรที่นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยควีนในแคนาดาให้ความสนใจกันเป็นอย่างมาก จนถึงขนาดที่พวกเขาเอาพิราบมาทดลองเดินบนทางเลื่อนเพื่อหาคำตอบเลย
ก่อนที่เราจะหาคำตอบของคำถามนี้ คงต้งอธิบายไว้สักเล็กน้อยว่าแม้เราจะพูดกันติดปากว่านกพิราบ “ผงกหัว” ในตอนที่เดิน ในการทดลองเมื่อปี 1978 นักวิทยาศาสตร์กลับพบว่า สิ่งที่นกพิราบทำจริงๆ นั้น คือการผลักหัวของมันไปข้างหน้าต่างหาก
โดยในตอนที่นักวิทยาศาสตร์ตรวจสอบการวิดีโอภาพช้าส่วนหัวของนกพิราบ พบว่ามันจะมีการเคลื่อนที่สำคัญๆ แบ่งได้เป็นสองส่วนใหญ่ๆ คือการ “พุ่ง” และการ “พัก”
ซึ่งคุณ Michael Land นักชีววิทยาของมหาวิทยาลัยซัสเซกซ์ผู้วิจัยเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของดวงตาในสัตว์และมนุษย์กล่าวว่า ในขั้นตอนการ “พุ่ง” นกพิราบจะขยับหัวไปข้างหน้าของร่างกายราวๆ 5 เซนติเมตร
ในขณะที่ในขั้นตอนการ “พัก” พวกมันจะขยับตัวมาหาหัวโดยที่หัวไม่จำเป็นต้องเคลื่อนที่ ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้จะเกิดขึ้นเร็วมากในระหว่างที่นกเดินจนมีสภาพคล้ายกับการผงกหัว
“การกระทำนี้ เกิดขึ้นโดยเฉลี่ยห้าถึงแปดครั้งต่อวินาทีขณะที่นกพิราบกำลังเดิน มันเร็วพอที่เราจะไม่สามารถประมวลผลสิ่งที่เกิดขึ้น จนจิตใจของเราเชื่อว่ามันเป็นการผงกหัว” คุณ Aaron Blaisdell ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่ ทำการวิจัยเรื่องการรับรู้ของสัตว์กล่าว
แน่นอนว่าการกระทำเช่นนี้ของนกพิราบย่อมไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไม่มีเหตุผล เพราะที่พวกมันต้องพุ่งหัวไปข้างหน้าขณะเดินนั้น มันมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการมองโลกของมัน
ความจริงในข้อนี้ถูกค้นพบในการทดลองให้นกพิราบเดินบนทางเลื่อนที่กล่าวมาข้างต้น เพราะต่างจากการเดินปกติ เมื่อนกพิราบเดินบนทางเลื่อนซึ่งทำให้ตัวพิราบไม่ขยับไปไหน พวกมันจะไม่ผงกหัว ซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์ในเวลานั้น ทราบว่าการผงกหัว มีความเกี่ยวข้องกับการปรับมุมมองให้คงที่ของนก
“การรักษาศีรษะให้คงอยู่กับที่ ในระหว่างช่วง ‘พัก’ หมายความว่าภาพจะไม่เบลอจากการเคลื่อนไหวของร่างกาย” คุณ Michael กล่าว
ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะ หากนกพิราบขยับหัวไปพร้อมๆ กับร่างกาย พวกมันจะประสบกับปัญหาการปรับภาพด้วยเรตินาของดวงตา ทำให้ภาพที่มันเห็นเบลอ
ซึ่งเราจะสามารถยืนยันแนวคิดนี้ได้ด้วยการอุ้มนกพิราบและเดินไปข้างหน้า เราจะพบว่านกมีการผงกหัวตามการเดินของเราแม้มันจะไม่ได้เดินด้วยตัวเองก็ตาม
ลักษณะการปรับภาพในรูปแบบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่กับนกพิราบเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับสัตว์ตระกูลสัตว์ปีกอย่างไก่ด้วย
และแม้ว่าเราอาจจะไม่รู้สึกตัว แต่ดวงตาของมนุษย์เองก็มีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วในเวลาที่เราเดิน เพื่อปรับภาพที่เรามองเห็นเช่นกัน
และเหตุผลเดียวที่นกเลือกที่จะเดินผงกหัวแทนที่จะขยับดวงตาอย่างรวดเร็วแบบคน ก็เป็นเพราะหัวของพวกมันมีความสามารถในการเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็วมากกว่าพวกเรานั่นเอง
ที่มา livescience และ biologists
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น