สำหรับเพื่อนๆ ที่มีโอกาสได้ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับอวกาศ เชื่อว่าหลายคนอาจจะทราบกันมาบ้างว่าในช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา นอกจากยานฉางเอ๋อ 4 ของจีน ความพยายามในการร่อนลงบนดวงจันทร์ของมนุษย์ครั้งอื่นๆ ก็ล้วนแต่จะจบลงด้วยความล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นยาน Beresheet lander ของอิสราเอล หรือยานจันทรายาน 2 ของอินเดีย
ลักษณะความล้มเหลวที่มากกว่าความสำเร็จนี้เอง ทำให้หลายๆ คนอาจจะเริ่มคิดขึ้นมาแล้วว่า ทั้งที่มนุษย์เราเคยขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์กันมาตั้งแต่เมื่อครึ่งศตวรรษก่อนแล้ว แต่ทำไมการร่อนลงบนดวงจันทร์จึงยังเป็นอะไรที่ยากลำบากขนาดนี้อยู่?
เพื่อการตอบคำถามที่คาใจของหลายๆ คนข้อนี้ ทางสื่อต่างประเทศได้ทำการสอบถามคำถามดังกล่าวไปยังคุณ Alicia Dwyer Cianciolo วิศวกรการบินและยานอวกาศแห่งศูนย์วิจัยแลงลีย์ของนาซา และได้รับคำตอบมาว่า
การที่จะร่อนลงบนดวงจันทร์ให้สำเร็จนั้น “หลายสิ่งหลายอย่างจำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้นในลำดับที่ถูกต้องตายตัว เพราะหากไม่เป็นเช่นนั้น ปัญหาก็จะเริ่มต้นขึ้นทันที”
สิ่งสำคัญสิ่งแรกของการร่อนลงบนดวงจันทร์นั้นเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนการเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์เอง ซึ่งแม้ว่าจะฟังดูไม่มีอะไรแต่ก็ทำได้ยากกว่าที่คิด โดยเฉพาะกับยานที่อาศัยการเดินทางแบบอ้อมๆ ซึ่งกินเวลานานเพื่อการประหยัดเชื้อเพลิงอย่างยานจันทรายาน 2 เมื่อเทียบกับยานที่อาศัยเชื้อเพลิงมหาศาลพุ่งไปดวงจันทร์ในสามวัน
เมื่อยานเข้าสู่วงโคจรได้สำเร็จ มันจะต้องติดต่อกับโลกอยู่เสมอโดยอาศัยระบบ Deep Space Network ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างๆ กันไป 3 แห่งทั่วโลก เนื่องจากหากการรับส่งข้อมูลขาดไปตัวยานก็อาจจะขาดการควบคุมในขั้นตอนที่สำคัญๆ ได้ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับยานจันทรายาน 2 ราวๆ 2 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวดวงจันทร์
ขั้นตอนในจุดนี้นั้น จำเป็นที่จะต้องมีความแม่นยำที่สูงมาก เพราะตัวยานจะเคลื่อนที่ลงสู่ดวงจันทร์ด้วยความเร็วมากพอๆ กับจรวดมิสไซล์ ดังนั้นแม้แต่ความผิดพลาดเล็กๆ ในเครื่องมือส่งข้อมูลก็อาจจะนำมาซึ่งความเสียหายใหญ่หลวงได้ ดั่งที่เกิดขึ้นกับยาน Beresheet lander ในวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา
เท่านั้นยังไม่พอ ต่างไปจากบนโลกที่มี GPS ค่อยช่วยเหลือในการนำทางแก่พาหนะไร้คนขับ บนดวงจันทร์ยานอวกาศจะต้องอาศัยเซนเซอร์ของตัวเองเพียงอย่างเดียวในการร่อนลง ซึ่งปัญหาในจุดนี้เองก็อาจจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ว่าทำไมยานอวกาศที่ล้มเหลวในการลงจอดบนดวงจันทร์ แทบจะทั้งหมดเป็นยานอวกาศไร้คนขับ
แต่แม้ว่าการร่อนลงดวงจันทร์นั้นจะเป็นเรื่องที่ยากแค่ไหนก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกก็ทราบกันอยู่เป็นอย่างดีว่า มันไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และทุกประเทศที่ล้มเหลวในการเดินทางไปบนดวงจันทร์เอง ก็ล้วนแต่เคยออกมาบอกว่าพวกเขาไม่ได้ยอมแพ้ เพราะความผิดพลาด มันเป็นเพียงอีกก้าวหนึ่งเพื่อไปสู่ความสำเร็จก็เท่านั้น
ที่มา livescience
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น