ในวงการบรรพชีวินวิทยาซึ่งศึกษาสัตว์ดึกดำบรรพ์ ในแทบทุกๆ ปีเราก็จะมีการค้นพบใหม่ซึ่งสร้างความสนใจให้แก่ผู้คนบนโลกอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการค้นพบไดโนเสาร์ใหม่ๆ หรือมดประหลาดในอำพัน
และการค้นพบเมื่อล่าสุดนี้เอง ก็อาจจะเป็นหนึ่งในการค้นพบอันยิ่งใหญ่อีกครั้งของมนุษย์เลยก็ได้เพราะเมื่อวันที่ 16 กันยายน ที่ผ่านมานี้เอง ทีมวิทยาศาสตร์จากประเทศจีน ได้ออกมาเปิดเผยว่า
พวกเขาได้ทำการค้นพบ “สเปิร์ม” ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก อายุกว่า 100 ล้านปี และสเปิร์มที่ว่าก็มีขนาดใหญ่สุดๆ เลยด้วย
การค้นพบในครั้งนี้เป็นผลงานของทีมวิทยาศาสตร์จาก สถาบันวิทยาศาสตร์นานกิง และมหาวิทยาลัยมิวนิก
โดยพวกเขาได้ค้นพบอำพันเก่าแก่ในพม่า ซึ่งผนึกเอา “ออสตราคอด” (ostracod) แพลงก์ตอนสัตว์ ที่มีอวัยวะคล้ายฝาสองฝาข้างตัวเอาไว้
โดยออสตราคอดในครั้งนี้ ถูกพร้อมๆ กันถึง 39 ตัว และเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ถูกตั้งชื่อว่า Myanmarcypris hui
อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าสนใจของการค้นพบนี้คือ หนึ่งในออสตราคอดตัวเมียที่ถูกพบนั้น เพิ่งจะผ่านการผสมพันธุ์ได้ไม่นาน และในตัวของมันก็ยังมีสเปิร์มอยู่ด้วย ทำให้นี่กลายเป็นการค้นพบสเปิร์มที่เก่าแก่ที่สุดไปด้วย
และราวกับการค้นพบนี้ยังน่าทึ่งไม่พอ นักวิทยาศาสตร์ก็ยังค้นพบอีกว่าสเปิร์มของออสตราคอดนั้นมีความยาวสูงมากๆ
เพราะแม้ว่ามันจะพันกันจนไม่สามารถวัดขนาดที่แน่นอนได้ แต่อย่างน้อยๆ สเปิร์มที่พบก็น่าจะยาวกว่าขนาดเฉลี่ยของ ออสตราคอดตัวผู้ที่ผลิตมัน 3-4 เท่า หรืออย่างต่ำๆ 0.2 มิลลิเมตรเลย
ซึ่งก็แน่นอนว่าสเปิร์มในรูปแบบนี้ย่อมจะต้องแข็งแรงมากกว่าสเปิร์มแบบเน้นปริมาณที่สัตว์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันใช้เป็นแน่ แม้ว่ามันจะต้องใช้พลังงานในการผลิตสเปิร์มมากขึ้นตามไปด้วยก็ตาม
“คุณอาจคิดว่าสิ่งนี้ไม่สมเหตุสมผลจากมุมมองการวิวัฒนาการเลย” คุณ Renate Matzke-Karasz ผู้เชี่ยวชาญด้านออสตราคอดจากมหาวิทยาลัยมิวนิกกล่าว
“แต่ในกรณีของออสทราคอด การมีสเปิร์มแบบนี้ก็ดูจะเป็นเรื่องที่มีประสิทธิภาพมานานกว่าหลายล้านปีเลย”
ที่มา livescience, iflscience และ royalsocietypublishing
Advertisement
0 Comments