มันเป็นเรื่องที่เราทราบกันว่าความ “มีสติ” ของมนุษย์นั้น เป็นอะไรที่ขึ้นอยู่กับการรับส่งกระแสไฟฟ้าในสมองเป็นหลัก
ดังนั้นมันจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่จะมีคนบางกลุ่มผุดแนวคิดขึ้นมาว่า มันจะเป็นไปได้ไหมที่เราจะดัดแปลงหรือประยุกต์ใช้กระแสไฟฟ้าเหล่านี้ ในการรักษาทางการแพทย์
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซินแมดิสันเองก็ดูเหมือนว่าจะเป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น เพราะเมื่อล่าสุดนี้เอง ได้ออกมาตีพิมพ์งานวิจัยใหม่ชิ้นหนึ่งในวารสาร Neuron
โดยงานวิจัยชิ้นนี้มีเนื้อหาหลักๆ เกี่ยวข้องกับการทดลองฝังขั้วไฟฟ้าแบบพิเศษลงในสมองของลิงแม็กแคกด้วยเทคนิคที่เรียกว่า “การผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก” และพบว่า
หากเรากระตุ้นเซลล์สมองบางส่วนของลิง เราจะทำให้ลิงที่อยู่ในสภาพไร้สติ กลับมามีสติได้
โดยในการทดลองครั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้พบว่าหากพวกเขาใช้ไฟฟ้ากระตุ้นสมองส่วนที่เรียกว่า Central lateral thalamus
ลิงทดลองที่ถูกกระตุ้นจะมีการลืมตาขึ้น ขยับเนื้อขยับตัว และมีสัญญาณชีพจรที่เปลี่ยนไปได้ แม้ว่ามันจะไม่มีสติหรือโดนยาสลบมาก่อนหน้า และจะกลับไปอยู่ในสภาพไร้สติอีกครั้ง เมื่อการกระตุ้นจบลง
เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ แสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่าการกระตุ้นดังกล่าวนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่คำให้ลิงได้สติกลับมาจริงๆ และหากมีการพัฒนาต่อยอดเราก็อาจจะใช้ระบบดังกล่าวในการช่วยเหลือผู้ป่วยโคม่า หรือนอนเป็นเจ้าหญิง/เจ้าชายนิทราให้ได้สติกลับมาได้เลย
พื้นที่สมองส่วนที่ได้รับการกระตุ้น
อย่างไรก็ตามเช่นเดียวกับการรักษาที่ดูสุดโต่งมากอื่นๆ ในอดีต งานวิจัยในครั้งนี้เองก็ยังคงจำเป็นที่จะต้องผ่านขั้นตอนการทดลองอีกมากกว่าที่จะสามารถนำมาใช้งานได้จริง ไม่ว่าจะเป็นการทดลองในด้านความปลอดภัย หรือการค้นว่า “ระดับ” ของสติที่ลิงมีในตอนที่ถูกกระตุ้น
ซึ่งในเบื้องต้นนั้น นักวิทยาศาสตร์ได้วางแผนที่จะให้ลิงทดลอง ทำกิจกรรมต่างๆ อย่างการเล่นเกมเพื่อดูว่าภายใต้การกระตุ้นนี้ ลิงสามารถทำเรื่องที่ซับซ้อนได้หรือไม่ ก่อนที่จะทำการทดลองต่อในสัตว์ชนิดอื่นๆ และมนุษย์ในที่สุดนั่นเอง
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น